🏁 เมื่อพูดถึงจังหวัดที่โดดเด่นด้านกีฬามากที่สุดในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน คุณนึกถึงจังหวัดอะไร ?
เชื่อว่าคำตอบที่หลายท่านนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ คงจะไม่ต่างกันมากนัก หากเป็นเมื่อก่อน อาจจะเป็นจังหวัดสุพรรณบุรี หรือกรุงเทพฯ แต่ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนใหญ่เราจะนึกถึงจังหวัด “บุรีรัมย์” ที่มีแบรนด์ทีมฟุตบอลชื่อดังอย่าง “Buriram United” นั่นเอง
🏎 นอกเหนือจากการมีแบรนด์ทีมชื่อดังจนติดหูไปทั่วประเทศแล้ว แน่นอนว่าภาพของสนามกีฬา Chang Arena Stadium ที่มีการออกแบบสวยงามโดยถอดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมมาจากปราสาทขอมโบราณ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวดั้งเดิมของจังหวัด และยังมีคุณภาพไม่แพ้สนามแข่งขันฟุตบอลระดับลีกในต่างประเทศ ✅ ได้รับมาตรฐานจาก FIFA รวมถึงสนาม Chang International Circuit สนามแข่งรถมาตรฐานสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ ที่กลายเป็น Avanue ที่เปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดสามารถดึงผู้ชมที่รักกีฬาทั่วโลกมายังเมืองแห่งนี้ได้ทุกปี ยังคงเป็นจุดเด่นที่ทำให้เมืองบุรีรัมย์กลายเป็น Hub ด้านกีฬาระดับโลกแห่งเดียวในไทยที่ไม่ว่าใครก็ต้องนึกถึง
🏢 สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ที่คุณได้รับ จนสามารถจดจำเมืองสักเมืองได้อย่างชัดเจน ซึ่งตามหลักการสร้างแบรนด์ เราเรียกสิ่งนี้ว่า “การสร้างแบรนด์เมือง” หรือ “City Branding” เป็นทฤษฎีที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาให้เมืองต่างๆ กลายเป็นจุดหมายในการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว หรือทำธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลดีไปยังเศรษฐกิจภาพรวมของเมือง และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นอีกด้วย
การสร้างแบรนด์เมืองที่ประสบความสำเร็จและกลายเป็นที่จดจำของผู้คนทั่วโลกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการดึงเอาคุณค่า (City Value) หรือกลิ่นอายของเมือง (City Essense) ออกมาชูเป็นจุดเด่น ไม่ว่าจะเป็น ภูมิประเทศ สภาพอากาศ ประวัติศาสตร์ เรื่องราวหรือวัฒนธรรมของผู้คน รวมเข้ากับการสร้างสรรค์และกลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างภาพจำใหม่ที่น่าสนใจและดึงดูดมากยิ่งขึ้น
🎯 โดยการสร้างแบรนด์เมืองนั้นมีเกณฑ์การประเมินที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกตาม Anholt Ipsos City Brands Index (CBI) ซึ่งประกอบไปด้วยการวิเคราะห์ดัชนีภาพรวมของเมืองใน 6 มิติ ได้แก่
1. สถานะของเมืองในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับการวัดผลงานระดับโลกในด้านวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการปกครอง
2. สถานที่ การรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพ และความน่าอยู่ของสภาพอากาศ ความสะอาดของสิ่งแวดล้อม และความน่าสนใจของสถาปัตยกรรม และพื้นที่สาธารณะของเมือง
3. การเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานของเมือง ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลกลางของเมืองได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นเรทราคากลางของสินค้า และบริการภายในเมือง การรองรับมาตรฐานของสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล การคมนาคม หรือสนามกีฬา เป็นต้น
4. ผู้คนภายในเมือง วัดจากความเป็นมิตรของชาวเมือง การเปิดรับทางภาษาและวัฒนธรรม และความปลอดภัย
5. ปัจจัยดึงดูดของเมือง เมืองมีจุดเด่นด้านภูมิประเทศ สภาพอากาศ ประวัติศาสตร์ เรื่องราวหรือวัฒนธรรมที่ได้รับความสนใจในระดับโลก
6. ศักยภาพเมือง วัดโอกาสทางเศรษฐกิจและการศึกษาภายในเมือง เช่น ความยากหรือง่ายในการหางาน หรือศักยภาพในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
✨ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยมาตรฐานในการวัดระดับความมีแบรนด์ของเมืองที่ทำให้เห็นจุดเด่นหรืออัตลักษณ์สำคัญ โดยบางเมืองอาจได้คะแนนบางจุดมากเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น Melbourne ที่มีการออกแบบโลโก้เพื่อจำแนกบริการหรือหน่วยงานต่างๆ ให้ผู้คนเข้าใจ และเข้าถึงได้ง่าย
🎯 สรุป
การสร้างแบรนด์เมืองสามารถดึงศักยภาพของสิ่งที่เมืองนั้นๆ เคยมีอยู่ให้กลายเป็นจุดเด่น และสร้างภาพจำใหม่ให้เมืองน่าสนใจ กลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้คนมากขึ้น ซึ่งต้องเริ่มจากการประเมินสภาพปัจจุบันและมีการวางกลยุทธ์ในการออกแบบที่ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนในเมืองให้มีคุณภาพมากขึ้นอีกด้วย