ยุคแห่งการสร้างสาวกแบรนด์ (Brand SuperFans) – ตอน 2

  • กลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้าง Superfans
    แนวทางสำหรับกลยุทธ์การสร้าง Superfans นั้นเราต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ว่าแบรนด์เราจะมีวิธีการอย่างไร? ลองตอบคำถามเหล่านี้ดู 

A : ทำอย่างไร ให้พนักงานหลงใหล ภูมิใจในแบรนด์ตัวเอง ?
พนักงานที่จะหลงใหลในแบรนด์นั้นต้องเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกตั้งแต่การคัดเลือกพนักงานที่ต้องมีแนวคิด
และทัศนคติไปในทางเดียวกับแบรนด์ หรือมีพันธุกรรม (DNA) เดียวกับแบรนด์ อย่างเช่น การสร้าง Brand DNA ของสายการบิน Low Cost “Southwest Airline” ที่มีการใช้กลไกลการบริหารในลักษณะที่มีการคัดเลือกบุคคลากรที่เรียบง่าย โดยออกชุดแบบทดสอบมาจาก Brand DNA ขององค์กร โดยผู้ถูกสัมภาษณ์จะถูกท้าทายด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “ทำอย่างไร ที่จะทำให้คนตรงหน้าคุณสนุกที่สุด”   ซึ่งเมื่อแบรนด์นี้คัดเลือกคนที่มีพันธุกรรมเดียวกันเข้ามานั้นส่งผลต่อแบรนด์

    • ทำให้งบประมาณการพัฒนาบุคลากรลดลงตามไปด้วย 
    • ทำให้บรรยากาศการทำงานสนุกสนาน และ สร้างสังคมที่มีความสุขร่วมกัน 
    • ทำให้ลดค่าอาหารบนเครื่องบินในบางไฟลต์ ที่ให้พนักงานเป็นผู้สร้างสีสันบนเครื่องบินแทนการเสิร์ฟอาหารในการบินระยะทางสั้นๆ  

ในยุคนี้ต้องบอกว่าพลังของการสร้างแบรนด์ ที่ออกมาจากพลังภายในขององค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีความ Super Dynamic มาก ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว การสร้าง Internal Branding ให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจใน แบรนด์นั้น ต้องสร้างผ่านการกำหนด Brand DNA ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการสร้างแบรนด์ภายในองค์กร แล้วขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ผ่านระบบ HR ขององค์กรนั้นๆ ต่อไป 

องค์กรที่มี Internal Brand ที่แข็งแรงนั้นจะมีรากของวัฒนธรรมที่ดีฝังอยู่ซึ่งเปรียบเสมือต้นไม้ที่มีรากลึกเมื่อถูกแรงลมหรือพายุ อาจมีพลัดใบบ้าง แต่ต้นไม้นั้นยังยืนต่อไปได้อย่างสง่างาม 

B: ทำอย่างไร ให้ลูกค้าอยากบอกต่อแบรนด์เรา ?
กลยุทธ์การบอกต่อนั้น Google ก็เคยใช้ประสบความสำเร็จมาแล้วในการที่ให้ผู้ที่ต้องการทดลองใช้ Gmail ต้องมีเพื่อนส่งคำเชิญมา และหมายเลขคำเชิญมีจำนวนจำกัดนี้เป็นที่นิยมและถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จากแค่หลักพันบัญชีไปเป็นล้านบัญชี ทั่วโลก และหมายเลขคำเชิญนั้นได้มีการนำมาแลกเป็นของรางวัลมากมายจนถึงขั้นมีผู้นำเลขบัญชีมาประมูลใน ebay เลยทีเดียว และนี่เป็นผลลัพธ์ของการสร้างกลยุทธ์การบอกต่อ ที่ทำให้ Gmail สามารถเอาชนะเจ้าตลาดเดิมอย่าง Yahoo หรือ Hotmail ได้สำเร็จ

จากกรณีศึกษานี้เราพอจะสรุปได้ว่า การทำให้คนอยากบอกต่อนั้น มีแนวคิดคือ 

  1. การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ง่าย โดยไม่ต้องมีคนอธิบาย หรือมีคู่มืออันซับซ้อน 
  2. สร้างกลไกที่สนุกมีสีสันในการบอกต่อ 
  3. ให้ทดลองใช้ จะดูท้าทายและไม่ผูกมัดมากเกินไป ทำให้คนสบายใจที่จะได้ทดลอง

C : ทำอย่างไร ให้ลูกค้าศรัทธาแบรนด์เรา ?
การสร้างศรัทธา เป็นเรื่องยากมากสำหรับแบรนด์ทั่วไป แต่ก็เป็นเรื่องที่ง่ายมากถ้าเราสังเกตุจากแบรนด์ในกลุ่มกีฬา โดยเฉพาะสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก ไม่ว่าจะเป็นหงส์แดง, ปีศาจแดง, สิงห์น้ำเงินคราม หรือไอ้ปืนใหญ่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างกลไลให้คนศรัทธาในแบรนด์มากกว่าแค่ผลแพ้ชนะในเกมส์ฟุตบอล ซึ่งทำให้แบรนด์อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลายเป็นแบรนด์ที่มูลค่ามหาศาลในโลก ทั้งๆ ที่ตอนก่อตั้งมาจากทีมที่มาจากชนชั้นแรงงาน กลายมาเป็นแบรนด์ที่สร้างศรัทธาให้คนไปทั่วโลก ซึ่งรายได้ที่มาจากของที่ระลึกและเสื้อของแมนยูนั้นมีมูลค่ามหาศาลเทียบเท่าแฟชั่นแบรนด์ชั้นนำเลยทีเดียว  กลไกอะไรบ้างที่สร้างความศรัทธาให้กับแฟนฟุตบอลไปทั่วโลก 

  1. การสร้างสัญลักษณ์ที่มีชีวิต : เพื่อสร้างจิตวิญญาณ ให้คนสามารถเข้าถึงง่ายและสะท้อนความเป็นพวกเดียวกัน 
  2. การสร้างเพลงประจำ : ปลุกใจหรือเพลงประจำสโมสร ที่เห็นจะได้ผลและโด่งดังมาก ก็คือ เพลง You’ll never walk alone ของหงส์แดงลิเวอร์พูล จนกลายเป็นเพลงที่ทำให้สามารถสื่อสารเชื่อมต่อระหว่างแฟนบอล และนักกีฬา ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย 
  3. การสร้าง Hall of Fame : สร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างศูนย์รวมจิตใจของแฟนคลับให้เกิดความศรัทธาและภาคภูมิใจในแบรนด์ 
  4. การสร้างตัวแทนแบรนด์ : การให้นักเตะ หรือแม้กระทั่งโค้ช มีตัวตนที่โดดเด่น และมีกิจกรรมร่วมกับแฟนบอลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการหมุนเวียนไปตามช่วงเวลา
  5. สร้างผลงานที่ดี : สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็คือ การพัฒนาสินค้าและบริการที่ออกมาโดนใจลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

D : ทำอย่างไร ให้ลูกค้าอยากสนับสนุนแบรนด์เรา ?
กลยุทธ์การสร้างแรงสนับสนุนนั้น แบรนด์ที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม น่าจะเป็นแบรนด์ “เสี่ยวหมี่” ที่ทำได้อย่างน่าทึ่ง ที่สามารถขายโทรศัพท์ได้มากกว่า 1 แสนเครื่องในเวลาเพียงแค่ 1 นาที ซึ่งสิ่งที่เสี่ยวหมี่ทำคือการสร้างกลยุทธ์การมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับลูกค้าได้อย่างยอดเยี่ยม โดยการสร้างสภาวะการมีส่วนร่วมนั้นเริ่มตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การบริการ หรือแม้กระทั่งช่องทางการจัดจำหน่าย การสร้างความมีส่วนร่วมของแบรนด์ เสี่ยวหมี่ พอจะสรุปได้ด้วยแนวทางดังนี้

  1. การสร้างฟังก์ชันในแบบที่ลูกค้าหรือผู้ใช้งานต้องการด้วยตนเอง ร่วมกับทางทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยหาจุดร่วมระหว่างแบรนด์ และลูกค้าให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
  2. การสร้างการมีส่วนร่วม ผ่านการใช้เครื่องมือทางกรสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันตลอดเวลาและต่อเนื่อง
  3. มีการอัปเดตและรวบรวมความคิดเห็นของลูกค้าในทุกๆ สัปดาห์ ให้ทีมงานรับทราบและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน
  4. การสร้างการมีส่วนร่วมนั้น มาทดแทนการทำการตลาดแบบล้างสมองลูกค้าหรือผู้ใช้งาน แต่การมีส่วนร่วมที่ดีนั้นทำให้แบรนด์ค่อยๆแทรกซึมตัวเองเข้าไปยังความคิดและพฤติกรรมของลูกค้าหรือผู้ใช้งาน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดแรงสนับสนุนของแบรนด์อย่างมีพลังจากลูกค้าและผู้ใช้งาน จนเกิดผลลัพธ์กลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งสามารถชนะยอดขายอย่างแบรนด์ Apple ในประเทศจีนได้สำเร็จ 

E : ทำอย่างไร ให้ลูกค้าอยากปกป้องแบรนด์เรา ?
เราเคยเห็นไหมครับว่า แบรนด์หลายแบรนด์ที่อุตส่าห์ควบคุมมาอย่างดี ภาพลักษณ์ดี สินค้าดี ช่องทางจัดจำหน่ายดี แต่ดันผิดพลาดในการที่แอบคิดไม่ดีต่อลูกค้า หรือกลุ่มสังคมวงกว้าง แบรนด์นั้นอาจล่มสลายได้ในชั่วข้ามคืน ตัวอย่าง D&G ที่สร้างแคมเปญการสื่อสารที่มีความคิดที่เหมือนไปดูถูกคนจีนในการใช้ตะเกียบทานพิซซ่า กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้โลกสังคมออนไลน์แชร์และติงแบรนด์นี้อย่างรุนแรง กลายเป็นกระแสต่อต้านและขับไล่แบรนด์นี้เลยทีเดียว ถึงขั้นต้องยกเลิกการจัดแฟชั่นโชว์ซึ่งเตรียมไว้อย่างอลังการ นี่แหละครับโลกสมัยใหม่ที่อำนาจของสื่ออยู่ในมือของผู้บริโภค ต่อให้เป็นแบรนด์ใหญ่มาจากไหนก็ตามถ้าเป็นแบรนด์ที่มั่นใจในตัวเองมากเกินไป ไปล่วงเกินใครบางกลุ่ม ที่แม้ไม่ใช่ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายแบรนด์คุณ แบรนด์นั้นๆ ก็อาจพังชั่วข้ามคืน เพราะไม่มีใครอยากปกป้องแบรนด์คุณ 

คิดดี  ทำดี  มีคุณธรรม แล้วต้องพูดเสียงดังด้วย”  การที่ทำให้แบรนด์มีเหล่าสาวกมาคอยปกป้องจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับการสร้างแบรนด์ในยุคนี้  การเชื่อมโยงด้วยสินค้าและบริการนั้นไม่ช่วยการเพิ่มการปกป้อง เท่ากับแบรนด์คุณต้อง คิดดี ทำดี ต่อโลกใบนี้มากขึ้นและต้องแสดงบทบาทเป็นผู้ให้ที่ดีเมื่อมีโอกาส สิ่งสำคัญคุณต้องสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงไปยังสังคมโดยรวม พอพูดอย่างนี้อาจนึกถึงในการทำ CSR ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่แน่นอน เพราะ CSR ภาพที่ออกมาสังคมก็จะพอจับได้ว่ามันคือกลไกทางการตลาดประเภทหนึ่ง   การคิดดีทำดีนี้ต้องออกมาจากจิตวิญญาณขององค์กรอย่างแท้จริง เมื่อแบรนด์เข้าไปอยู่ในท้องที่ไหน (Local market) แบรนด์จะต้องมีส่วนในการสร้างให้ที่นั้นๆ ดีขึ้นไปด้วย  การที่เหล่าสาวกจะปกป้องแบรนด์คุณนั้นต้องมาจากแนวคิดการให้ที่มาจากผู้ก่อตั้งของธุรกิจเลยทีเดียว เช่น การที่อาลีบาบาสามารถขยายไปทั่วโลกและมีคนต้อนรับจำนวนมาก เพราะสิ่งที่ แจ็ค หม่า สื่อสารมาโดยตลอดคือ การช่วยธุรกิจรายย่อย ช่วยให้คนมีงานทำ ทำให้แบรนด์อย่าง Alibaba ได้ใจคนไปทั้งโลก มากกว่าที่ Alibaba จะบอกว่าตัวเองยิ่งใหญ่แค่ไหน ไปเทคโอเวอร์มาแล้วกี่บริษัท จริงไหมครับ

กรณีศึกษา เสี่ยวหมี่

เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) เริ่มต้นจากการเป็นแบรนด์สตาร์ทอัพไอทีสัญชาติจีนรายเล็กๆ ที่เติบโตในเวลาอันรวดเร็วจนสามารถก้าวมาเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี ด้วยสถิติการขายโทรศัพท์มือถือได้มากกว่า 150,000 เครื่องภายในเวลา 1 นาที

เสี่ยวหมี่นั้นมีการปูการสร้าง Superfans มาเป็นอย่างดีด้วยการสร้างให้ลูกค้ารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับแบรนด์ โดยแทรกอยู่ในทุกๆ กระบวนการ แบ่งได้เป็น 4 กระบวนการใหญ่ๆ ดังนี้

1. ก่อนออก New Product

  • สร้างความมีส่วนร่วมกับลูกค้าก่อนที่สินค้าจะออก โดยทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมตั้งแต่ในการออกแบบขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา
  • คัดเลือกกลุ่มคน 100 คนแรก ที่ได้รับเกียรติในการร่วมทดสอบระบบ User Interface ของ MIUI (Mi-U-I) ซึ่งทุกวันนี้ คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่ากลุ่มท่านผู้มีเกียรติและนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาพัฒนา Product ตามความเหมาะสมที่ทั้งแบรนด์และลูกค้าจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน

2. การออก Product

  • ให้ลูกค้าและเหล่าสาวกได้มีการทดลองใช้ก่อน เพื่อสร้างความภูมิใจ และมีส่วนร่วม
  • Mi-Fans หรือกลุ่มท่านผู้มีเกียรติ จะเป็นกลุ่มคนแรกที่ได้รับทราบข้อมูลทุกอย่าง โดยตรงจากผู้บริหาร ก่อนที่สื่ออื่นๆ จะได้รับข้อมูล
  • งานเปิดตัวสินค้าจะเว้นที่นั่งหน้าสุดจำนวนหนึ่งให้กลุ่ม Mi-Fans หรือกลุ่มท่านผู้มีเกียรติ เสมอโดยกลุ่มนักข่าว และ VIP จะถูกให้นั่งด้านหลัง เพื่อแสดงถึงการให้เกียรติและให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1

3. หลังออก Product

  • เปิดรับข้อคิดเห็นจากลูกค้าสัปดาห์ละครั้ง ในทุกวันศุกร์ตอน 17.00 น. (เวลาปักกิ่ง) และมีการก่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว
  • จัดกิจกรรมให้มีส่วนร่วมในการได้ทดลองเรียนรู้สินค้าและบริการ เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่พิเศษของสินค้าและบริการ

4. กิจกรรมเพื่อสานต่อการสร้างความมีส่วนร่วม

  • มีการทำ Flash sale อย่างสม่ำเสมอ และ Mi-Fans จะได้รับ F-Codes เพื่อจะได้สิทธิก่อนคนทั่วไป
  • การเข้าร่วมเป็น Mi-Fans จะมีการสะสมแต้ม เพื่อนำไปเป็นส่วนลด หรือ สิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่า เช่น การเข้าร่วมงานเปิดตัว หรือ กิจกรรมพิเศษ ทำให้ปัจจุบันมี VIP กว่าเแสนคน
  • มีการทำจัดงาน Party สำหรับ Mi-Fans อย่างสม่ำเสมอ โดยภายในงานยังเปิดโอกาสให้ Mi Fans ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และประสบการณ์ในการใช้บริการอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และสมาร์ทฮาร์ดแวร์ เพื่อเชื่อมต่อสู่แพลทฟอร์ม IoT
  • มีช่องทางการติดต่อผ่าน Social ที่หลากหลายและเฉพาะเจาะจงด้วยการจัดสรรเนื้อหาอย่างเป็นระบบ เช่น
    • Global Mi Community ที่เชื่อมต่อระหว่างกันจาก 18 ประเทศ และมีสมาชิกมากถึง 7,977,108 คนทั่วโลก
    • Thread  หรือ Web board พื้นที่หลักที่ Mi-Fans สามารถสื่อสาร และแลกเปลี่ยนความเห็นได้
      รวมถึงการติดตามการ Test ผลิตภัณฑ์ต่างๆ
    • One Product, One Community ให้กับคนที่ชอบแต่ละผลิตภัณฑ์ได้มาพูดคุยได้อย่างเต็มที่
    • CEO Page ใช้ Social Media เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง โดย Account ของ Lei Jun หนึ่งในผู้บริหารของเสี่ยวหมี่นั้นมีผู้ติดตามกว่า 20,515,274 คน (ม.ค. 2019)
    • Weibo Account แบ่งตามผลิตภัณฑ์
      > Xiaomi Company มีผู้ติดตาม 13,964,726 คน
      > MIUI Official มีผู้ติดตาม 14,717,613 คน
      > Xiaomi Smart TV มีผู้ติดตาม 4,685,236 คน

โดยสรุปแล้ว จากทั้ง 4 กระบวนการนี้นั้น ประกอบไปด้วยกลยุทธ์ในการสร้าง Superfans ดังนี้

  1. เปิดโอกาสการมีส่วนร่วม ทั้งในขั้นตอนการสร้างผลิตภัณฑ์ การบริการ การสร้างแบรนด์ และการจัดจำหน่าย โดยอยู่บนพื้นฐานของความต้องการด้านฟังก์ชัน และเลือกจุดที่ทั้งแบรนด์และลูกค้าจะได้รับประโยชน์ เพราะการสื่อสารที่ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่ายจึงจะดำเนินไปได้นาน
  2. ออกแบบวิธีสื่อสาร โดยจัดให้มีการสื่อสารที่สอดคล้องกับจุดที่เราเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม โดยยึดหลัก “ไม่ซับซ้อน ได้ประโยชน์ สนุก และเป็นจริง”
  3. เผยแพร่คำบอกต่อ โดยเริ่มจากกลุ่มที่ยอมรับสินค้ามากที่สุด ซึ่งก็คือ กลุ่มท่านผู้มีเกียรติ แล้วบ่มเพาะความรู้สึกมีส่วนร่วมจนเกิดกระแสการบอกต่อผ่านช่องทางการสื่อสารที่ออกแบบไว้เพื่อการต่อยอดให้คนอีกจำนวนมากสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

*ในการรับข้อคิดเห็นจากลูกค้านั้น สิ่งสำคัญคือการทำให้ลูกค้าเห็นว่าข้อคิดเห็นเหล่านั้นถูกนำมาใช้และเกิดขึ้นได้จริงในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและความตั้งใจในการให้ความสำคัญกับความคิดเห็นที่ได้รับมา

**ปัจจุบัน หลายคนในกลุ่มท่านผู้มีเกียรติกลายมาเป็นพนักงานของ Xiaomi หรือ Partner ทางธุรกิจ

***ความรู้สึกมีส่วนร่วมนี้ ยังได้นำมาใช้ในการบริหารงานของบริษัท เพื่อให้ความรู้สึกมีส่วนนี้ซึมลึกสู่สายเลือดของทั้งพนักงานและลูกค้าอย่างแท้จริง

Wanqiang Li, Co-Founder & VP ของ Xiaomi ได้กล่าวไว้ว่า

“ตีสนิทลูกค้า แล้วให้พวกเขาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในอนาคตของเสี่ยวหมี่

เสี่ยวหมี่ไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์ แต่ขายความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่ง”

และนี่คือสรุปเคล็ดลับความสำเร็จของการสร้าง Superfans ที่ทำให้แบรนด์นี้เริ่มจากจุดเล็กกลายเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านในปัจจุบัน

 

หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ (Key learning)

สำหรับโดยภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกธุรกิจที่เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ โดยมีปัจจัยมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมากมาย บางธุรกิจอาจหายไปในเวลาอันใกล้นี้ แต่ในขณะที่บางธุรกิจก็จะเป็นธุรกิจน้องใหม่ที่มาแรงประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในยุคนี้ สิ่งที่เป็นบทสรุปท้ายเล่มที่อยากให้ทุกท่านตกผลึก Key Learning กันอีกหน่อยซึ่งเป็นหัวใจ
ของการเรียนรู้ ได้แก่

  1. การทรานส์ฟอร์มแบรนด์กับการทรานส์ฟอร์มธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้วในปัจจุบัน เพราะ
    แบรนด์ไม่ใช่แค่เพียงภาพลักษณ์แต่คือมูลค่าสินทรัพย์ที่สำคัญของทุกๆคนในองค์กรแม้กระทั่งนักลงทุน
  2. การทรานส์ฟอร์มนิยามการสร้างแบรนด์นั้นเปลี่ยนจากการสร้างภาพลักษณ์และออกแบบโลโก้ โดยความรับผิดชอบมักตกอยู่ที่ฝ่ายการตลาดนั้นได้เปลี่ยนนิยามใหม่ไปเป็นคุณค่าที่ธุรกิจจะส่งมอบให้ลูกค้าซึ่งนั่นหมายถึงทุกคนในองค์กรล้วนแต่มีบทบาทในการขับเคลื่อนแบรนด์ ที่สำคัญคือ พนักงานภายในต้องเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการถ่ายทอดคุณค่าแบรนด์จากภายในสู่ภายนอก
  3. สิ่งที่ต้องทรานส์ฟอร์มและสำคัญมากในความสำเร็จยุคสมัยใหม่คือ การพัฒนาระบบงาน HR ไปเป็นการสร้าง Internal brand หรือ สร้าง Core Value และ Culture องค์กรให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
  4. งบการเงินที่ดูแต่ผลกำไรขาดทุนอย่างเดียวไม่พอ ต้องใส่ใจต่อมูลค่าของธุรกิจที่จับต้องไม่ได้หรือ (Intangible Asset )โดยเฉพาะ มูลค่าของคุณค่าแบรนด์ (Brand Value) นั้นๆ
  5. การออกแบบโลโก้ไม่ได้เรียกว่าเป็นการออกแบบแรนด์อีกต่อไป แค่การออกแบบประสบการณ์ (Expereince)ทั้งหมดที่ส่งมอบให้ลูกค้าให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้นคือการออกแบบแบรนด์
  6. การมองแค่การซื้อซ้ำของลูกค้านั้นไม่เพียงพอในยุคนี้ หลักคิดในการบริหารแบรนด์ที่เป็นตัวบ่งชี้ความแข็งแรงของแบรนด์คือการวัดสาวกแบรนด์หรือ Superfans ว่าแบรนด์นั้นๆมีเหล่าสาวกมากแค่ไหนและมีความรักและศรัทธาในแบรนด์นั้นๆในระดับไหน

หวังว่าในหนังสือเล่มนี้คงจะให้ประโยชน์กับท่าบ้างไม่มากก็น้อยแต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการนำไปใช้เพราะวันนี้เรื่องการทรานส์ฟอร์มแบรนด์หรือธุรกิจไม่ใช่ทางเลือกแต่คือทางรอดที่สำคัญของธุรกิจในยุคใหม่และคงมีผลไปอีกนานหากท่านเป็นองค์กรที่กำลังจะปรับของให้ท่านมุ่งมั่นสู่การเปลี่ยนแปลงให้รวดเร็วแต่หากท่านยังลังเลให้ท่านเลิกลังเลแล้วเป็นเป็นลุยทันทีเพื่อตัวธุรกิจและทีมงานของท่านที่ตามมาอีกมากมาย

ขอให้ทุกท่านโชคดีและประสบความสำเร็จในยุค Brand Transformation นะครับ