รีบเช็คด่วน! ก่อนจะสายเกินแก้ 7 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าแบรนด์ของคุณต้องทรานส์ฟอร์ม

แบรนด์ที่แข็งแกร่งจะทำให้ลูกค้าเลือกคุณมากขึ้น และสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจได้มากกว่า ทว่าแม้แต่แบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดก็ยังต้องมีวันที่อ่อนแอเช่นกัน เมื่อต้องเจอกับความไม่แน่นอนของตลาดและหลายอย่างที่อาจจะควบคุมไม่ได้ ปัญหาคือจะทำยังไงให้แบรนด์คงความแข็งแกร่งและดูสดใหม่อยู่ตลอดเวลา คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าแบรนด์จะต้องเปลี่ยนไหม แต่อยู่ที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่มากกว่า ในบทความนี้จึงชวนมาเช็คดู 7 สัญญาณที่แบรนด์ของคุณต้องทรานส์ฟอร์มเข้าสู่ยุคใหม่ได้แล้ว

7 สัญญาณเตือนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

  1. ชื่อแบรนด์ไม่บ่งบอกถึงตัวตนของแบรนด์

หนึ่งในสัญญาณสำคัญ คือ การที่ชื่อแบรนด์ของคุณไม่ได้สะท้อนถึงธุรกิจของคุณอีกต่อไป ชื่อแบรนด์ที่อาจเห็นว่ายอดเยี่ยมเมื่อ 10 ปีที่แล้วอาจไม่ได้สื่อถึงตัวตนของแบรนด์ในตอนนี้แล้ว หากในอดีต Larry Page และ Sergey Brin ไม่เปลี่ยนชื่อเดิมของ Google เราอาจได้ใช้ BackRub เป็นหน้าเริ่มต้นของบราวเซอร์ของเราไปแล้วก็ได้ หรือในอีกแง่หนึ่งบางครั้งเมื่อบริบททางวัฒนธรรมในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจเปลี่ยนความหมายของชื่อแบรนด์ เลยทำให้ชื่อไม่ได้สื่อออกมาตามที่เจ้าของแบรนด์ต้องการก็ได้

ดังนั้นเราไม่ควรปล่อยให้ชื่อแบรนด์กลายเป็นตัวถ่วงของธุรกิจ เพราะชื่อแบรนด์ที่แข็งแกร่งจะกลายมาเป็นรากฐานที่สำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราว สร้างความแตกต่าง และสร้างการจดจำให้แบรนด์ได้อย่างคาดไม่ถึง

  1. ลูกค้าแยกแบรนด์ของคุณกับคู่แข่งไม่ออก

เมื่อปัจจุบันคนก็ต่างก็ทำธุรกิจเข้าสู่ตลาดกันถมถื่น วันหนึ่งคุณอาจจะพบว่าจู่ๆ แบรนด์ของคุณ หรือของที่คุณขายไม่ต่างอะไรกับคู่แข่งเลย และหากเป็นแบบนั้นยอดขายธุรกิจก็คงไม่พ้นยังย่ำอยู่กับที่ ซึ่งนี่แหละคือสัญญาณที่ถึงเวลาที่แบรนด์ของคุณจะต้องเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

แต่ต้องจำไว้ก่อนว่าการจะสร้างความแตกต่างนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์เท่านั้น แต่มันคือการกำหนดถึงคุณค่าที่เป็นสิ่งที่คุณทำได้ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งนอกจากคุณจะต้องสื่อสารจุดแข็งออกไปให้คนภายนอกรับรู้แล้ว ทุกคนในองค์กรหรือแบรนด์ของคุณต้องเข้าใจด้วย เพื่อที่จะได้สื่อสารออกไปให้ลูกค้าได้ตรงกันนั่นเอง

  1. ภาพลักษณ์ของแบรนด์น่าเบื่อ แถมล้าสมัย

บางบริษัทก็เพิ่งจะก่อตั้งเมื่อไม่กี่ปี แต่ก็มีหลายบริษัทที่ทำธุรกิจมานานมากกว่า 10 ปี หรือบางทีก็อาจจะเท่าชั่วอายุคนหนึ่งเสียด้วยซ้ำ บางแบรนด์การคงภาพลักษณ์แบรนด์แบบเดิมไว้อาจทำให้เหมือนเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการ แต่ว่าก็มีโอกาสที่คนอาจจะมองว่าแบรนด์ของคุณดูน่าเบื่อ และอาจจะไปหาคู่แข่งของคุณที่อาจทันสมัยกว่าได้

  1. แบรนด์ไม่ดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เล็งไว้

หากคุณกำลังมองหาลูกค้ากลุ่มใหม่ที่พอจะแทรกเข้าไปในตลาดเพื่อเอากำไรได้ หรือกลุ่มลูกค้าแบรนด์เปลี่ยนไป คุณอาจเห็นได้ว่ารูปแบบแบรนด์แบบเดิมๆอาจไม่ทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจได้อีกต่อไป และนี่จึงเป็นสัญญาณที่บอกได้อย่างชัดเจนเลยว่าคุณต้องทรานส์ฟอร์มแบรนด์ใหม่เสียที

การส่งเสริมความภักดีของแบรนด์ในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ต้องเริ่มต้นด้วยการทำให้แบรนด์เกี่ยวข้องกับความต้องการของลูกค้า หรือแม้กระทั่งสามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา เพื่อที่ว่าคุณจะได้สามารถตรวจสอบแรงจูงใจ ความชอบ ความต้องการ และพฤติกรรมการซื้อทั้งของลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมได้ เพื่อนำมาใช้ในการปรับประสบการณ์ของแบรนด์ให้สอดคล้องกับลูกค้าของคุณได้มากยิ่งขึ้น

  1. กลยุทธ์ที่ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของแบรนด์

เมื่อเข็มทิศหรือกลยุทธ์ของธุรกิจเปลี่ยน ซึ่งเหตุผลใดๆ ที่ทำให้ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมหรือช่วงอายุของลูกค้าที่เปลี่ยน หรือเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปก็ตาม แน่นอนว่าแบรนด์ของคุณก็ต้องเปลี่ยนไปตามทางที่จะไปด้วย คำถามที่จะต้องถามธุรกิจก็คือ ทำไมแบรนด์ของคุณจึงเกิดขึ้นมา หรือมีไว้เพื่ออะไร? แบรนด์ของคุณกำลังมุ่งหน้าไปจุดไหน? เมื่อตอบได้แล้วจึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการทรานส์ฟอร์ม ตั้งแต่การกำหนดนิยามของธุรกิจและแบรนด์ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัฒนธรรมองขององค์กร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายไปเป็นพื้นฐานที่ใช้กำหนดทิศทางกลยุทธ์ต่างๆ สู่ความสำเร็จของแบรนด์ได้ในอนาคต

  1. ควบรวมแบรนด์แล้วไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน

จากข้อมูลของ Harvard Business Review พบว่าการควบรวมและซื้อกิจการกว่า 90% นั้นล้มเหลว ซึ่งสาเหตุก็มาจากการบริษัทที่ซื้อและถูกซื้อนั้นเข้ากันไม่ได้ แถมลูกค้าประจำของแต่ละเจ้าก็กังวลว่าสินค้าจะเปลี่ยนไปไหม หรือบริการที่ได้รับเหมือนเดิมหรือจะดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า เพื่อสร้างความมั่นใจนั้นแน่นอนว่าการทรานส์ฟอร์มคงเป็นคำตอบเดียวที่จะมาช่วยแก้ปัญหา

กลยุทธ์การปรับ “สถาปัตยกรรมแบรนด์ (Brand Architecture)” จึงกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะได้ช่วยลดความซ้ำซ้อน ความสับสน ความไร้ประสิทธิภาพ และช่วยกันสนับสนุน กระชับความสัมพันธ์ของแบรนด์ภายใต้องค์กรเดียวกัน ซึ่งนอกเหนือไปกว่านั้นการทรานส์ฟอร์มก็เป็นโอกาสที่แบรนด์จะได้สื่อสารให้ลูกค้ารู้ถึงการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของทั้งสองแบรนด์ได้ด้วย

  1. แบรนด์ของคุณซับซ้อนและยุ่งเหยิง

ประสบการณ์แบรนด์ของคุณกำลังสร้างความสับสนให้กับลูกค้าอยู่หรือเปล่า? ถ้าคำตอบคือใช่ นี่อาจจะถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแบรนด์เสียใหม่ ซึ่งสาเหตุของปัญหาอาจมาจากการที่ประสบการณ์ของแบรนด์อาจขาดความเชื่อมโยงกับเรื่องราวของแบรนด์นั่นเอง 

หนึ่งในความท้าทายของการสร้างแบรนด์อย่างหนึ่งก็คือ การที่ยังโฟกัสในตัวแบรนด์ไว้ได้อยู่ โดยเฉพาะสำหรับแบรนด์องค์กรขนาดใหญ่ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก หากแบรนด์ใหญ่แบบนี้ขาดการจัดการดูแลที่ดี อาจทำให้แบรนด์ขาดประสิทธิภาพในการเสนอคุณค่า และขาดความเชื่อมโยงกับแบรนด์องค์กร เพราะยิ่งแบรนด์ยิ่งโตและยิ่งมีความซับซ้อนเท่าไหร่ ลูกค้าก็จะยิ่งเข้าใจได้ยากขึ้นเท่านั้น 

สิ่งที่แบรนด์ต้องทำคือการปรับโฟกัสเสียใหม่ โดยการทำให้แบรนด์เรียบง่ายยิ่งขึ้น และเน้นที่จุดสำคัญมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ “แบรนด์พอร์ตฟอลิโอ (Brand Portfolio)” ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ประสบการณ์ในแต่ละผลิตภัณฑ์ของแบรนด์มีความเชื่อมโยงกัน ด้วยการจัดการแบรนด์ให้ระเบียบมากขึ้น และทำให้ลูกค้าเข้าใจแบรนด์ได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม

สรุป

หลังจากอ่านมาจนครบทั้ง 7 ข้อนี้แล้วคุณมองเห็นอะไรในแบรนด์ของคุณบ้าง? สัญญาณที่ได้กล่าวมานี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้คุณฉุกคิดได้ว่าแบรนด์ของคุณจะต้องเปลี่ยนแปลงเสียที แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแค่การเปลี่ยนโลโก้ หรือภาพลักษณ์เท่านั้น แต่มันคือการเปลี่ยนที่ลึกไปถึงวิสัยทัศน์ คุณค่าของแบรนด์ที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจของคุณแข็งแกร่ง และอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

…………………………………………. 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://99designs.com/blog/logo-branding/best-rebranding-examples/ 

https://www.ignytebrands.com/12-signs-its-time-to-rebrand-your-business/ 

https://tillerdigital.com/blog/10-signs-your-business-needs-to-rebrand/