สวัสดีครับแฟนเพจทุกท่าน แม้ว่าช่วงนี้มีแต่ข่าวไม่ดีออกมาเป็นระยะในบ้านเมืองเราแต่ชีวิตยังต้องเดินต่อไป และยิ่งต้องทำตัวเองให้แข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพทางธุรกิจ วันนี้ในช่วง Talk to Consult เราจะคุยกันเรื่องที่เกี่ยวกับการนำความชอบหรือความหลงใหลส่วนตัวมาประยุกต์ให้เข้ากับความเป็นไปได้ของธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนแบรนด์ให้มีอนาคตและเต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการอันยอดเยี่ยม มาดูกันว่าเราจะแปลงความชอบไปเป็นคุณค่าทางธุรกิจได้อย่างไร? ลองเอาไปปรับใช้กันนะครับ กับ 4 ขั้นตอนที่จะเปลี่ยนให้ความหลงใหลกลายเป็นคุณค่าแบรนด์ในทุกธุรกิจ
ขั้นตอนที่ 1 ตั้งคำถามสิ่งที่คุณหลงใหลสามารถขยายกรอบความคิดของคุณให้เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ได้อย่างไร?
ความสนใจหรือความหลงใหลเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสามารถนำพาธุรกิจของเราให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ หากแต่จะต้องสามารถขยายกรอบความคิดของเราให้กว้างออกไป ไม่มองว่ามี Passion เพียงอย่างเดียว จะสามารถนำมาสร้างเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ เพราะจะทำให้เรามีองค์ความรู้หรือองค์ความคิดที่แคบและเล็กจนเกินไป
ต้องถามตัวเองว่า Passion ที่เรามี สามารถมอบคุณค่าอะไรให้กับผู้อื่นได้บ้าง เปลี่ยนความคิดจากการเป็นผู้รับสู่การเป็นผู้ให้ ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารที่ขายขนมหวานที่คนรุ่นใหม่ชอบทานเป็นอย่างมากภายใต้แบรนด์ After You เกิดจากการที่ หญิงสาวคนหนึ่งรู้สึกอยากแบ่งปันมื้ออร่อยให้กับคนจำนวนมากได้ลิ้มลองฝีมือของเขา ภายใต้กำลังที่สามารถทำได้ โดยมีความคิดที่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาหลงใหลนี้จะสำเร็จได้ เขาจึงมุ่งมั่นทำขนมที่อร่อยและพิถีพิถันเหมือนอย่างที่ตัวเองชื่นชอบจับมือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องคนสนิทซึ่งชื่นชอบด้าน การบริหารธุรกิจ ต่างร่วมมือกันพัฒนาในส่วนที่ตัวเองหลงใหลและถนัดจนสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จอย่างมากมาย และยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้บริการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วย
อีกหนึ่งตัวอย่างความหลงใหลของคุณ อีลอน มัสก์ ที่เชื่อว่าโลกในอนาคต รถที่เราใช้ในปัจจุบันจะถูกเปลี่ยนเป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด เขาหลงใหลและพัฒนามันด้วยความเชื่อที่ว่า สิ่งเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้
จะสังเกตเห็นว่ากลไกในการตั้งคำถามของการเปลี่ยนถ่าย Passion ให้กลายเป็น Value จะต้องเริ่มต้นจากการขยายความคิดของเราว่าเราสามารถมอบคุณค่าอะไรให้แก่ผู้อื่นได้บ้างและเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขในการได้ทำและส่งมอบสิ่งดีๆ ออกไปแก่ผู้อื่น ก่อนการคิดว่า ฉันควรจะได้อะไรจากสิ่งที่ทำนี้
ขั้นตอนที่ 2 ตั้งคำถามโดยการเขียนออกมาว่า ทำไม Passion หรือความหลงใหลนี้ ถึงอยากทำให้คุณตื่นเช้ามาทำงาน?
คำถามนี้เป็นคำถามที่ช่วยทำให้เราทบทวนว่าเรา Passion ในเรื่องนี้จริงๆ หรือไม่ และความหลงใหลนี้ทำให้เรามีความกระฉับกระเฉง คล่องแคล่วมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำถามนี้มักจะใช้ในการวัดว่าเราทำงานอย่างคนที่มีแค่วิญญาณ หรือทำอย่างคนที่มีจิตวิญญาณ ลักษณะการทำงานเช่นคนที่มีแต่วิญญาณก็คือ คนที่ทำงานเพียงเพราะมันคือหน้าที่คือสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน ในขณะที่คนที่มีจิตวิญญาณจะตื่นเช้าไปทำงานอย่างมีชีวิตชีวา ทำงานด้วยความสนุกและความหลงใหลในสิ่งที่ตัวเองทำ อยากเอาชนะอุปสรรค เห็นทุกอุปสรรคเป็นเรื่องท้าทาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนว่า Passion หรือความหลงใหลที่เรามี มากพอที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เราอยากทำงานนั้นจริงหรือไม่
ขั้นตอนที่ 3 ตั้งคำถามว่า Passion หรือ ความหลงใหล ของเราดีต่อผู้คนจำนวนมากอย่างไร?
ซึ่งในบทนี้เราจะกล่าวถึงความต้องการและความคิดภายในของเรา ว่าเราสามารถนำสิ่งต่างๆ ที่เราหลงใหลเหล่านี้แปลเปลี่ยนเป็นคุณค่าได้อย่างไร มากกว่าเรื่องของกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ การตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราทำ ดีต่อผู้คนอย่างไร ไม่เพียงเฉพาะคนที่เป็นลูกค้าเท่านั้น เป็นคำถามที่เราจะต้องตอบให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น การเริ่มต้นทำธุรกิจอาหาร ภายใต้ความคิดที่ว่า เราไม่เพียงแค่ขายอาหาร แต่สิ่งที่เรากำลังทำนั้นเราต้องการมอบสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้คน มอบความสุขจากการได้ทานอาหารคุณภาพดีอร่อยถูกปาก ส่งมอบสุขภาพกายที่ดีและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ให้แก่ทุกครอบครัว ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หากเราคิดแบบนี้ซ้ำๆ โดยเปลี่ยนจากการคิดว่าจะขายเพียงตัวสินค้าเพียงอย่างเดียวแทนที่ด้วยการคิดว่าสิ่งที่เราทำมอบคุณค่าแก่ผู้คนอย่างไร
อย่างการชื่นชอบตัวการ์ตูนแล้วคิดว่า อยากจะทำการ์ตูนขาย อาจจะยังไม่ใช่คำตอบที่ทำให้เราสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ดีนัก แต่หากเราตอบตัวเองว่า เราจะสร้างสรรค์ความสุขเพื่อส่งต่อให้กับทุกๆ คนในครอบครัวได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จากคำตอบนี้จะช่วยทำให้เรามองเห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่เรากำลังจะทำ เพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนจากสินค้าให้กลายเป็นคุณค่าอย่างสมบูรณ์
เช่นเดียวกับบริษัท วอลท์ ดิสนีย์ ที่ไม่เคยคิดว่าธุรกิจของเขาเป็นเพียงการสร้างการ์ตูนธรรมดา แต่ธุรกิจของเขาคือการสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้ดีขึ้น ให้กับผู้คนจำนวนมาก เช่นเดียวกับบริษัท แอปเปิ้ล (Apple) ที่ไม่เคยกล่าวว่าตนเองขายโทรศัพท์มือถือ เพราะการกล่าวว่าตัวเองขายหรือหลงใหลในการทำโทรศัพท์มือถือ จะทำให้แนวความคิดของเราติดอยู่กับแค่ตัวสินค้า ซึ่ง โนเกีย (Nokia) คิดแบบนั้น ในขณะที่แอปเปิ้ลกล่าวว่า สิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกส่งผลให้คนพัฒนาและก้าวไปข้างหน้า ทำให้แอปเปิ้ลสามารถผลิตสินค้าออกมาได้มากมายซึ่งล้วนแล้วแต่เปลี่ยนโลกได้จริง ออกผลิตภัณฑ์มากมายทั้ง iPod, iPad, iMac, iPhone ฯลฯ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าการตั้งโจทย์ที่ต่างกัน ย่อมส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ต่างกันเช่นกัน คำถามข้อนี้จึงเป็นคำถามที่สำคัญมาก ยิ่งเราถามและสามารถตอบได้มากเท่าไหร่ ว่าสิ่งที่เราหลงใหลนี้สร้างคุณค่าอะไรให้แก่ผู้คน ก็จะยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 4 ตั้งคำถามว่า ถ้าโลกใบนี้ขาดแบรนด์เราไป โลกใบนี้จะเป็นอย่างไร?
เมื่อเราตั้งคำถามว่า ถ้าโลกใบนี้ขาดแบรนด์เราไป โลกใบนี้จะเป็นอย่างไร แล้วเราได้รับคำตอบว่า หากไม่มีแบรนด์เราแล้วลูกค้าหรือผู้คนสามารถไปใช้สินค้าหรือบริการจากแบรนด์อื่นๆ ได้ทันที ย่อมแสดงให้เห็นว่าคุณค่าของธุรกิจเรายังน้อยเกินไป ไม่ดีพอที่จะทำให้ลูกค้าหรือผู้คนใช้สินค้าและบริการของเราได้อย่างต่อเนื่อง นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ช่วยเปลี่ยนโลกของ บร่ิษัท ไมโครซอฟท์ (Microsoft) จาก 2 ผู้ก่อตั้ง Bill Gates และ Paul Allen ผู้มีความหลงใหลในสิ่งเดียวกัน คือ “คอมพิวเตอร์” และพวกเขายังเชื่อว่าอุปกรณ์นี้จะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลก พร้อมกับวิสัยทัศน์ที่ว่า “จะทำให้โต๊ะทำงานทุกตัว และทุกบ้านต้องมีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งาน” แต่แล้วบริษัทอย่าง ไมโครซอฟท์ ก็ต้องเจอกับวิกฤติหนักครั้งสำคัญ หลังจากที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไมโครซอฟท์ออกมาอย่างต่อเนื่อง วินโดวส์ (Windows) ต่างๆ ถูกผลิตออกมาอย่างมากมาย แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ด้วยมุ่งมั่นแต่ในเรื่องของรายได้และโอกาสในการสร้างรายได้ จนละเลยว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้น ตรงกับ Passion และคุณค่าขององค์กรที่แท้จริงของตนหรือไม่ หนึ่งในผู้บริหารจึงตั้งคำถามแทนการคิดหากลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา ว่า “ทำไมโลกใบนี้จึงต้องมี ไมโครซอฟท์” ทำให้บรรดาทีมผู้บริหารระดับสูงและองค์กรได้ฉุกคิดว่า ไมโครซอฟท์กำเนิดมาเพื่ออะไร และพบกับคำตอบว่า “ไมโครซอฟท์ กำเนิดมาเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจทั่วโลก” ทำให้พวกเขาได้ทราบถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรทำ ส่งผลให้ ไมโครซอฟท์ ผลิตสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมมาเพื่อตอบสนองและสนับสนุนภาคธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน
นี่คือ 4 ขั้นตอนการตั้งคำถามที่อยากให้ทุกท่านได้ลองนำกลับไปปรับใช้ ฝึกตั้งคำถามและหาคำตอบให้ได้ ว่าจะสามารถเปลี่ยนจาก Passion ไปเป็น Value ได้อย่างไรโดยฝึกหาคำตอบด้วยวิธีการ เขียนลง Post-it แล้วนำไปแปะที่กระดานเพื่อระดมความคิด จากนั้นขีดเส้นใต้คำที่ชื่นชอบ ที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกมีพลัง ช่วงเวลาที่เขียนคำตอบผมแนะนำให้ลืมเรื่องของทฤษฎีและข้อมูลต่างๆ เขียนคำตอบออกมาจากข้างใน โดยคำตอบจะต้องเกิดจากความมีสมาธิ เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า Passion หรือ ความหลงใหลของเราที่แท้จริงคืออะไร