เจาะลึก 9 เทรนด์การสร้างแบรนด์แห่งปี 2023

“เมื่อโลกหมุน แบรนด์จึงต้องหมุนตาม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบนี้ แค่ช้าไปไม่เท่าไหร่ก็อาจทำให้เสียหายได้ การปรับตัวจึงเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องทำเพื่อให้แตกต่าง โดดเด่น สร้างความประทับใจและเป็นที่จดจำให้ได้อยู่เสมอ และด้วย 9 เทรนด์​การสร้างแบรนด์แห่งปี 2023 นี้จะทำให้ท่านสามารถสร้างแบรนด์เพื่อดึงดูดผู้บริโภค และเติบโตยิ่งกว่าเดิม

9 เทรนด์มาแรงสำหรับการสร้างแบรนด์ในปี 2023

1. Daring Nostalgia 

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาเรามักจะพบเห็นการออกแบบแบรนด์ในสไตล์มินิมัลลิสต์กันอย่างมากมาย ทว่าเทรนด์ออกแบบในปี 2023 นี้ จะพาย้อนกลับไปให้เราคิดถึงสไตล์แฟชั่นในยุค 50s 90s หรือแม้กระทั่ง Y2K ด้วยการออกแบบที่มีการใช้มาสคอตพูดได้ บุคลิกขี้เล่น โทนสีพาสเทล และตัวหนังสือหนาๆ รวมถึงลูกเล่นมากมายที่จะทำให้แบรนด์ให้ความรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยสื่อถึงความมีชีวิตชีวาของแบรนด์ ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างความรู้สึกผูกพันและความทรงจำให้กับลูกค้าได้อีกด้วย

บรรจุภัณฑ์ห่อช็อกโกแลตแท่งแบรนด์ Muuuhlk ที่ใช้มาสคอตแทนแต่ละรสชาติ และแบรนด์ AGUILA Ritmos Nuestros ที่ใช้โทนสีพาสเทลและลูกเล่นของตัวหนังสือที่สื่อถึงความเป็นมิตร
2. Powerful Use of Color 

“สี” นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนจดจำแบรนด์ได้ด้วยตัวของมันเอง ดังเช่นสีแดงและเหลืองอันเปรียบได้กับตัวแทนของ McDonald รวมถึงการใช้สีหลักซ้ำจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์อย่างแบรนด์เครื่องสำอางอย่าง one.two.free! ด้วยเช่นกัน โดยในปีนี้เราอาจได้เห็นแบรนด์ต่างๆ มีการใช้สีสันแสบตา เพื่อใช้ในการสร้างรวมถึงการจดจำของแบรนด์ด้วยสีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อดึงดูดสายตาของผู้ชมในงานโฆษณาในรูปแบบดิจิทัล 

บรรจุภัณฑ์สีสันสดใสจากแบรนด์ร้านอาหาร Pull Noodles และสีชมพูอ่อนอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ one.two.free!
3. Pushing Design Boundaries​

กระแสการออกแบบ Anti-Design ที่ใช้ทั้งสีสันสดใส รูปทรงบิดเบี้ยว และขนาดที่ต่างกันสุดขั้ว กลายเป็นแนวทางการออกแบบกระแสหลักไปเสียแล้ว ซึ่งสาเหตุก็ไม่พ้นมาจากแบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการสร้างความโดดเด่นและแตกต่างในตลาดให้มากขึ้น การใช้ตัวอักษร ภาพ สี หรือแม้แต่การวางตำแหน่งที่อาจจะดูไม่เข้ากันนี้ยิ่งสร้างความรู้สึกที่แปลกใหม่เป็นที่จดจำแก่ผู้พบเห็นและตอบโจทย์สิ่งที่แบรนด์ต้องการได้เป็นอย่างดี 

บรรจุภัณฑ์แบรนด์ขนมและไอติมอาติซาน Nice Lab และแบรนด์ Kalamaki Greek Street ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดสไตล์กรีกที่ต้องการมอบประสบการณ์ที่สนุกสนานให้กับลูกค้า
4. New Eco 

ก่อนหน้านี้เราอาจจะพบเห็นแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามแนวโน้มของตลาด ซึ่งเทรนด์นี้ก็ยังคงอยู่ต่อไปและยังมีการพัฒนาในเรื่องของการออกแบบที่มีความเรียบง่ายมากขึ้น โดยอาจไม่ได้เห็นแบรนด์ที่มีสีเอิร์ธโทนอีกต่อไป แต่จะเป็นการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจในการมุ่งเน้นไปสู่อนาคต  เราอาจได้เห็นการออกแบบที่เรียบง่ายสุดๆ จนในบางทีอาจทำให้ไม่เป็นที่จดจำเลยแม้แต่น้อย แต่แบรนด์จะเน้นการใช้ข้อความเพียงไม่กี่คำ ที่สั้นชัดเจน กระชับ และอิมแพ็คต่อคนดูแทน

บรรจุภัณฑ์แบรนด์ Public Goods และ Carbon Theory ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้สีที่ไม่ฉูดฉาด และฟ้อนต์ทั่วไปที่เรียบง่าย
5. Animated Logos

“เพราะภาพที่เคลื่อนไหว สื่อสารได้มากกว่า” เช่นเดียวกันกับโลโก้ เพราะเรื่องราวของแบรนด์ที่ใส่ลงไปในทุกการเคลื่อนไหวของโลโก้นั้นทรงพลังกว่าภาพนิ่ง ทั้งยังโดดเด่น น่าสนใจและติดอยู่ในใจผู้บริโภคได้ยิ่งกว่า ดังเช่นโลโก้ที่หมุนเป็นวงกลมของพิพิธภัณฑ์ Leeum Museum of Art สะท้อนถึงธรรมชาติของศิลปะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือแม้แต่ Google ที่ทุกการเคลื่อนไหวสื่อถึงรูปแบบบริการอันยอดเยี่ยมของ Search Engine ชั้นนำได้อย่างมีสไตล์

โลโก้เคลื่อนไหวของ Google ที่เล่าเรื่องราวบริการที่มอบให้กับผู้ใช้ทุกคน
6. Statement Typography

เทรนด์ต่อมาจะเป็นเทรนด์ในการเพิ่มน้ำหนักให้คำพูดของแบรนด์ให้ทรงพลังมากกว่าที่ผ่านมา โดยการเน้นข้อความที่แบรนด์พยายามจะสื่อสารไปยังผู้บริโภค จากการใช้ฟอนต์ที่มีความแปลกใหม่ และมีใช้ภาษาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อทำให้แบรนด์มีความโดดเด่นยิ่งกว่าใคร อย่าง Counterprint ร้านสินค้าไลฟ์สไตล์ออนไลน์ที่ขายหนังสือชื่อ Big Type และไม่วายใช้ฟอนต์ขนาดใหญ่ที่ตรงกับชื่อเรื่องอย่างกับล้อกันมา

หนังสือ Big Type ที่ใช้ตัวอักษรตัวใหญ่สีสดเพื่อเน้นย้ำชื่อเรื่อง
7. Humanized Brands 

เมื่อแบรนด์เป็นเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความเป็นมิตร ความถ่อมตน และเห็นว่าสินค้าของแบรนด์นั้นถูกทำขึ้นด้วยมือจากความใส่ใจ ความหลงใหล และทำให้แบรนด์ได้รับความไว้วางใจอย่างแท้จริง เหมือนแบรนด์น้ำผึ้ง Miels d’Anicet จากฝรั่งเศส ที่สร้างเสน่ห์ด้วยตัวอักษรและภาพประกอบแปลกตาด้วยลายมือมนุษย์ ช่วยสร้างให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงได้ และมีเบื้องหลังที่เรียบง่าย

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของแบรนด์เพื่อสังคม (Brand Activism) ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะด้านสิ่งแวดล้อม หรือความเท่าเทียมก็เป็นสิ่งที่ทำให้แบรนด์มีความเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่าง GoDaddy ที่ทำโมชั่นกราฟฟิกเพื่อสื่อถึงความเท่าเทียมทางเพศในประเด็นความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของเพศหญิง

บรรจุภัณฑ์น้ำผึ้งออร์แกนิคแบรนด์ Miels d’Anicet จากฝรั่งเศส และกราฟฟิกแคมเปญ #BreakTheBias ของเว็บไซต์แพลตฟอร์ม GoDaddy ชูประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศด้านรายได้
8. Pop Culture Influence 

กระแสวัฒนธรรมป๊อปได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จากการเข้ามาของ TikTok  Netflix และแพลตฟอร์มด้านความบันเทิงอื่นๆ จนในปัจจุบันที่แบรนด์กลายเป็นผู้สร้างคอนเทนต์เป็นหลักไปเสียแล้ว ดังนั้นหากมีกระแสโซเชียลมีเดียหรือกระแสของซีรี่ส์ดังเกิดขึ้น เราจะเห็นการออกแบบและการสร้างแบรนด์ที่เป็นไปตามเทรนด์เหล่านั้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการบริโภคของผู้คนในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

แคมเปญโฆษณาเครื่องดื่ม Pepsi และ Heineken ตามซีรีย์ Squid Game
แคมเปญโฆษณาเครื่องดื่ม Pepsi และ Heineken ตามซีรีย์ดังอย่าง Squid Game
9. Retro Collage 

ภาพตัดแปะ (Collage) ที่จับคู่กราฟฟิกสไตล์ย้อนยุค รอยฉีกของรูปภาพ และอักษรตัวหนาจากยุคเรโทรที่ทำให้เนื้อหามีชีวิตชีวา สร้างความแปลกใหม่ให้กับแบรนด์จะเป็นที่นิยมมากขึ้นในปี 2023 นี้ ดังเช่นแบรนด์ชื่อดังจากฝรั่งเศสอย่าง Chanel ที่เน้นใช้เทปกาวเป็นหลัก และ Nike ที่ใช้ปากกาหัวสักหลาดสีส้มสดในการวาดเส้นแบบฟรีไสตล์ และ Swoosh ที่เป็นโลโก้ของแบรนด์

วิดีโอครบ 50 ปีเล่าจุดกำเนิดของ Nike และสิ่งที่แบรนด์ทำให้กับผู้คน

สรุป : ความท้าทายใหม่ที่แบรนด์ต้องเผชิญ

นอกเหนือจากคุณค่าที่แบรนด์มอบให้ การสร้างการจดจำและการตามให้ทันต่อโลกและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งนับเป็นความท้าทายใหม่ที่ทุกแบรนด์ต้องเจอในยุคปัจจุบันและต้องก้าวข้ามผ่านให้ได้สู่การคงอยู่ของแบรนด์ในอนาคต

………………………………………………………

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.envato.com/blog/branding-trends/#new-eco