TREND FAST TRACK : 7 เรื่องราวที่คุณต้องรู้ของเมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลก Baramizi Lab ชวนดูเรื่องราวที่น่าสนใจของ 7 เรื่องราวที่คุณต้องรู้ของเมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลก

จากคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีแผ่นดินจะอยู่” คงไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป เพราะปัญหาวิกฤตการณ์ภาวะโลกรวน ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงและเมืองจมทะเล ประกอบกับการเติบโตของประชากรคนเมืองที่จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดรอบโลกเป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้นักออกแบบและนักพัฒนาเมืองต้องหาหนทางเพื่อรองรับปัญหาความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอนาคต โดยหนึ่งในไอเดียนั่นก็คือการสร้างชุมชนหรือเมืองลอยน้ำ (Floating Community)
.
วันนี้ Baramizi Lab ชวนมาดู 7สิ่งที่น่าสนใจของเมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลก
.
Oceanix Busan เป็นโครงการทดลองสร้างชุมชนลอยน้ำเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกของโลกซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการพูดคุยของสตูดิโอนักออกแบบอย่าง BIG หรือ Bjarke Ingels กับ UN-Habitat ปัจจุบัน แนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับและเงินลงทุนจากรัฐบาลเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อดำเนินการก่อสร้างในช่วงปี 2023 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2025
.
และนี่คือ 7 ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลก

3 โครงสร้าง 3 วัตถุประสงค์
การออกแบบของ Oceanix Busan เป็นลักษณะเกาะจำลองทรงแปดเหลี่ยมสามเกาะซึ่งเชื่อมถึงกันด้วยสะพาน โดยเกาะแรกจะเป็นโซนที่พักซึ่งให้บริการห้องพัก ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และพื้นที่ส่วนกลางอื่น ๆ ส่วนที่สองเป็นหน่วยวิจัยที่มีพื้นที่สวนซึ่งถูกควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงหอคอยผักไฮโดรโปนิกส์ซึ่งจะเป็นอาหารสำหรับคนทั้งเมือง และส่วนสุดท้ายคือโซนที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนและคนในท้องถิ่น

เมืองโตได้ ขยายออกได้
พิมพ์เขียวของ Oceanix จะเริ่มต้นที่ 15.5 เอเคอร์ซึ่งสามารถสร้างเป็นห้องพักสำหรับผู้เข้าใช้ถึง 12,000 คน อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยที่จะเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของปัญหาภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ตัวโครงการอาจสามารก่อสร้างเพิ่มเติมโดยการเพิ่มจำนวนเกาะจำลองเป็น 20 เกาะ เพื่อเป็นพื้นที่รองรับผู้อยู่อาศัยได้ถึง 100,000 คน

 

วัสดุก่อสร้างที่เติบโตได้ด้วยตัวเอง
วัสดุหลักในการสร้างพื้นที่โครงการเป็นหินชีวภาพหรือ Biorock ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มักถูกใช้เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังและระบบนิเวศทางทะเล วัสดุดังกล่าวจะดูดซับแร่ธาตุจากน้ำทะเลและสร้างชั้นหินปูนเคลือบตัวเองไปเรื่อย ๆ จนแข็งแรงเทียบเท่าหรือมากกว่าคอนกรีต เป็นวัดุที่ทั้งสามารคงสภาพและซ่อมแซมตัวเองได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ Biorock ยังสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้บางส่วนอีกด้วย


เป็นเมืองที่นำไปสู่ความยั่งยืนและระบบหมุนเวียน
Oceanix Busan ใช้ closed-loop systems เพื่อจัดการ กรอง และหมุนเวียนระบบน้ำและการจัดการของเสียให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำไปใช้สำหรับผลผลิตทางการเกษตรและการผลิตพลังงาน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพื่อให้เมืองลอยน้ำนี้สามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานของตัวเองได้ ทั้งนี้ เกาะลอยน้ำทั้งสามส่วนยังสามารถแบ่งปันและส่งต่อพลังงานถึงกันและกันได้กรณีส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหา


เมืองใหม่ การเดินทางรูปแบบใหม่
แม้ว่าการมีส่วนที่เชื่อมต่อกับพื้นดินจะช่วยให้ประชาชนของเมืองลอยน้ำสามารถเข้าถึงสถานีรถไฟใต้ดินบนแผ่นดินใหญ่ได้ แต่รถยนต์และรถไฟแบบดั้งเดิมคงไม่ใช่วิธีการเดินทางที่เหมาะสมเท่าใดนักของผู้อยู่อาศัยในเมืองลอยน้ำ ดังนั้น นอกเหนือไปจากการเดินเท้าหรือขี่จักรยานแล้ว โครงการ Oceanix จึงต้องพยายามคิดค้นวิธีการเดินทางร่วมกัน (shared) ในหลากหลายรูปแบบ (multimodal) ซึ่งอาจหมายถึงการคิดค้นยนตรกรรมทางน้ำรูปแบบใหม่ เป็นต้น

 ชุมชนลอยน้ำสร้างเมือง
แม้ว่าโครงการ Oceanix จะเป็นโครงการก่อสร้างเพื่อแสวงหาผลกำไรด้วยเงินลงทุนกว่า 627 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราวสองหมื่นสองพันล้านบาท) อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวก็เกิดจากความร่วมมือกันของหลากหลายภาคส่วน ทั้งสตูดิโอผู้ออกแบบ รัฐบาลเมืองปูซาน UN-Habitat, Bjarke Ingels Group, Samoo Architects and Engineers ในเครือ Samsung และบริษัทที่ปรึกษาด้านการก่อสร้างและวิศวกรรมระดับโลกอย่าง Arup นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจาก Korea Maritime and Ocean University, MIT Center for Ocean Engineering และ Global Coral Reef Alliance

ไม่ได้มีแค่โครงการนี้เท่านั้น
แม้ว่า Oceanix Busan จะเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งทั้งโดดเด่นและมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมากมาย แต่โครงการดังกล่าวก็เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของความพยายามระดับโลกที่มนุษยชาติพยายามจะสร้างเมืองและประเทศที่พร้อมรองรับอนาคตเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
.
.

ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคต Baramizi Lab – องค์กรที่ทำหน้าที่จับตามองเทรนด์ที่น่าสนใจเพื่อภาคธุรกิจและจัดทำวิจัยเพื่อดูว่าผู้บริโภคคนไทยยอมรับเทรนด์ไหนมากที่สุด เพื่อให้ธุรกิจของท่านสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้กำหนดแนวทางการสร้างแบรนด์ตัวเอง หรือใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประสบการณ์สินค้าได้ต่อไป