ปัจจุบันเราคงไม่สามารถทำอะไรโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมได้ ไม่เพียงเพราะเรามีโลกอยู่เพียงใบเดียวเท่านั้น แต่เป็นเพราะชีวิตของผู้คนทั่วโลกที่ต่างต้องมารับผลของการกระทำของตัวเองที่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาตินี้มากว่าหลายศตวรรษ อาจจะช้าไปสักหน่อยกว่าที่เราจะตระหนักถึง แต่ในเมื่อทั่วโลกต่างรับรู้ถึงปัญหาและพยายามหาหนทางในการแก้ไข โอกาสใหม่อย่าง Green Economy จึงเริ่มต้นขึ้น
Green Economy คืออะไร?
Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว เป็นระบบเศรษฐกิจที่ปรับปรุงความเป็นอยู่ของมนุษย์และทำให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคม ขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดความขาดแคลนทางระบบนิเวศ โดยใช้วิธีการปล่อยคาร์บอนให้น้อย และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเกิดจากความร่วมมือของผู้คนในสังคม
ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับ Green Economy?
เมื่ออ่านคำอธิบายเกี่ยวกับ Green Economy แล้ว หลายท่านก็คือพอจะรู้อยู่แล้วว่าทำไมเจ้าเศรษฐกิจนี้ถึงสำคัญสำหรับเรานัก หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจสีเขียวนี้เปรียบเสมือนเครื่องมือในการนำไปช่วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกเราให้เป็นจริงได้ ด้วยการสนับสนุนร่วมกันของคนในสังคมระดับชาติผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยี ความรู้ การเงิน และการกำหนดนโยบายร่วมกัน อย่างนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neautral)
โอกาสใหม่ใน Green Economy
สำหรับนักธุรกิจแล้วก็คงจะถือเป็นความท้าทายที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันตามโลกที่หมุนไปข้างหน้า ทว่าในความท้าทายนั้นก็ยังมีโอกาสอยู่มากมายด้วยเช่นกัน จากงานวิจัยของ McKinsey พบว่าความต้องการในการบริโภคสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้นเพิ่มขึ้นสูง และอาจสร้างรายได้ให้ตลาดดังกล่าวมากถึง 12 ล้านล้านดอลลาห์สหรัฐ ในปีค.ศ. 2030 เลยทีเดียว
หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็นำไปปรับใช้กับนโยบายของประเทศตนเอง เช่นเดียวกันประเทศไทยของเราก็ได้นำมาปรับใช้อย่าง BCG Economic Model (Bio-Circular-Green) ที่ใช้เป็นแกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการประชุมระดับโลกอย่าง APEC เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจประเทศไทยโต 4.4 ล้านล้านบาท ภายในปีพ.ศ. 2569 นอกจากนี้ภาครัฐยังมีให้งบประมาณสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจสีเขียวนี้เป็นการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเอาชนะความยากจนได้ โดยจากการรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่า “งานสีเขียว (Green Jobs)” อาจสร้างอาชีพให้คนเพิ่มขึ้นได้มากถึง 24 ล้านตำแหน่งภายในปีค.ศ. 2030 แม้อาจจะมีจำนวน 6 ล้านตำแหน่งที่อาจจะเสียไประหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ก็ตาม
“Green Economy ไม่เพียงเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อลดการทำลายธรรมชาติและสร้างชีวิตควาเมป็นอยู่ที่ดีเพื่อผู้คนในสังคมผ่านการลดคาร์บอน และใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพแล้ว แต่เป็นอีกหนึ่งเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในอนาคตและเป็นโอกาสสำหรับเหล่านักธุรกิจในแง่ของมูลค่าที่จะเติบโต และสำหรับผู้คนอีกนับล้านชีวิตแล้วยังถือเป็นโอกาสที่ทำให้คนเหล่านั้นผ่านพ้นความยากจนในโลกที่ไม่แน่นอนนี้ด้วยเช่นกัน”
_____________________
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
https://www.boi.go.th/upload/ejournal/2022/02/index.html
https://www.ilo.org/global/publications/books/WCMS_628654/lang–en/index.htm