ปัจจุบันประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับโลกที่แต่ละชาติต่างร่วมกันแก้ไขและทำให้เหล่าผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับแนวคิดและนโยบายเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในตอนนี้ ไม่ว่าจะผ่านทางพันธกิจ วิสัยทัศน์ และการดำเนินงานของบริษัท และเมื่อวัดจากดัชนี ESG แล้ว หลายบริษัทก็สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี ในรายงานนี้จึงจะมากล่าวถึง 10 บริษัทอันดับต้นของโลกที่ได้รับการประเมิน ESG สูงที่สุดภายในปีค.ศ. 2022
ESG คืออะไร?
ก่อนจะไปรู้จัก 10 บริษัท อาจจะต้องกล่าวถึง ESG ก่อนว่าคืออะไร Environment-Social-Governance (ESG) คือแนวคิดการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนผ่านความรับผิดชอบสามด้านหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งถูกใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจเอกชนในการรับผิดชอบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
ESG สำคัญอย่างไร?
แน่นอนว่าความต้องการของนักธุรกิจทั้งหลายก็คงอยากที่จะเห็นบริษัทเติบโตไปข้างหน้า และเราก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเหล่านักลงทุนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการนั้นเป็นจริงด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันนี้นักลงทุนก็ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทหรือหลักทรัพย์ที่ดำเนินตามความยั่งยืนแบบ ESG มากยิ่งขึ้น โดยจากการสำรวจนักลงทุนทั่วโลกประจำปีค.ศ. 2021 ของ PwC พบว่า กว่า 79% ของนักลงทุนได้มีการนำความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน
จากการศึกษาในปีพ.ศ. 2560 ของ State Street Global Advisors ที่ทำการสำรวจกับผู้ลงทุนสถาบันทั้งหมด 475 องค์กรในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียแปซิฟิกพบว่า ร้อยละ 80% จะลงทุนในองค์กรที่ดำเนินตามธุรกิจตามหลัก ESG และในแบบสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2565 จากประธานฝ่ายลงทุนภาคเอกชนของ Deutsche Bank พบว่า นักลงทุนกว่า 68% คาดหวังว่าสถาบันการเงินที่ใช้บริการจะจัดการให้มีการลงทุนที่มีการประเมินถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ผลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาปีพ.ศ. 2563 พบว่า ผู้แนะนำทางการเงิน (Fianancial Advisor: FA) มีการแนะนำนักลงทุนหรือได้ลงทุนด้วยตัวเองในกองทุนแบบ ESG มากขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ
จากที่กล่าวไปข้างต้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า การลงทุนแบบยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่จัดทำดัชนี (Index Provider) หรือตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละประเทศก็ได้มีการจัดทำ “ดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index)” เพื่อใช้เป็นดัชนีสำหรับวัดว่าบริษัทได้มีการลงทุนและดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบสอดคล้องกับแนวคิด ESG อย่างไรในการนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดัชนีที่ใช้วัด ESG มีอะไรบ้างและวัดกันอย่างไร?
Sustainability Index ที่ใช้วัดบริษัทในการดำเนินงานตาม ESG นั้นมีหลากหลายดัชนีไม่ว่าจะจากองค์กรที่จัดทำดัชนีอย่าง Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) MSCI ESG Index FTSE4Good Index และ STOXX Global ESG Leaders indices รวมถึงดัชนีที่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งขึ้นอย่าง KRX ESG Leaders 150 Index ของประเทศเกาหลี SGX Sustainability Index ของประเทศสิงคโปร์ โดยแต่ละดัชนีนั้นจะมีเกณฑ์ในการประเมิน ESG ที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด
โดยในรายงานที่จะกล่าวถึง 10 บริษัทอันดับต้นของโลกที่ได้รับการประเมิน ESG สูงที่สุดภายในปีค.ศ. 2022 นี้จะใช้ดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ในการจัดอันดับ เนื่องจากเป็นดัชนีที่คัดเลือก “หุ้นยั่งยืนระดับโลก” กล่าวคือต้องเป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ทำธุรกิจแล้วมีความรับผิดชอบโดดเด่นในด้านความยั่งยืน ทั้งนี้ดัชนีนี้ยังได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนทั่วโลกเนื่องจากให้ผลตอบแทนสะสมในระดับที่ดีและใช้วัดความเสี่ยงในการทำธุรกิจซึ่งเป็นเกณฑ์ตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนได้อีกด้วย
การประเมินของ DJSI
ในการประเมินบริษัทนั้นจะมีประจำทุกปีจากทั้งหมด 61 อุตสาหกรรม โดยจะใช้เกณฑ์การประเมิน
- บริษัทที่จะได้เข้าร่วมประเมินต้องมีมูลค่าตามราคาตลาดหลังปรับน้ำหนักตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-float adjusted market capitalization) ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
- คะแนน S&P Global ESG Scores ที่มีคะแนนอยู่ระหว่าง 0-100 คะแนน โดยจะทำจากแบบประเมินด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ (Corporate Sustainability Assessment : CSA)
- การคัดเลือกบริษัทเพื่อให้อยู่ในการจัดอันดับนั้น จะคัดจากบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด 15% แรกในอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการอยู่ ซึ่งจะถูกแบ่งเป็นตามระดับรางวัลตั้งแต่ระดับ Gold Class ลงไป
และเนื่องจากคำถามที่ใช้ประเมินในแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกัน คะแนนที่ได้มาจึงไม่สามารถใช้เทียบกันข้ามอุตสาหกรรมได้ กล่าวคือไม่สามารถจัดอันดับบริษัทที่ได้คะแนนสูงที่สุดจากอุตสาหกรรมทั้ง 61 อุตสาหกรรมได้
ส่อง 10 บริษัทยั่งยืนระดับโลกในปี 2022
เป็นที่น่าเสียดายที่เกณฑ์การวัดอาจทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่ามีบริษัทใดบ้างที่ถือว่าเป็นบริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในโลกจากทั้งหมด 61 อุตสาหกรรม ในรายงานนี้จึงได้เทียบเคียงโดยการเลือก 10 บริษัทที่อยู่ในระดับ Gold Classซึ่งเป็นอันดับสูงที่สุดจากอัตราการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูงที่สุด 9 อุตสาหกรรมแรกแทน ซึ่งในแบบประเมิน CSA ที่ใช้ในแต่ละอุตสาหกรรมจะต่างกันแล้วนั้น เกณฑ์หลักในการใช้วัดและน้ำหนักคะแนนที่ให้ใน 3 มิติอย่างทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาลยังต่างกันด้วย ซึ่งเราจะมาดูถึงกลยุทธ์หลักๆ บางส่วนที่บริษัทชั้นนำเหล่านี้ใช้ในการบรรลุความยั่งยืนนี้กัน
1. Dexus
บริษัทจัดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัยพ์ของประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นอาคารสำนังาน ศูนย์การค้าทั้งหมดทั่วย่านธุรกิจและหัวเมืองใหญ่ของประเทศ โดยมีคะแนน S&P Global ESG Score อยู่ที่ 90 คะแนน และอยู่ในกลุ่มกลุ่มบริษัทระดับ Gold Class ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมการประเมิน ซึ่งในการจัดอันดับภายในอุตสาหกรรมนี้มีบริษัทที่เข้าร่วมถึง 569 บริษัท ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันมากที่สุดจากทั้งหมด 61 อุตสาหกรรม
2. KB Financial Group Inc.
บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำของประเทศเกาหลีที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายและมีบริษัทย่อยภายในเครือจำนวน 12 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีคะแนน S&P Global ESG Score อยู่ที่ 89 คะแนน ทำให้บริษัทอยู่ในกลุ่มบริษัทระดับ Gold Class ในอุตสาหกรรมธนาคารที่เข้าร่วมใน DJSI ซึ่งในการจัดอันดับภายในอุตสาหกรรมนี้มีบริษัทที่เข้าร่วมถึง 475 บริษัททั่วโลก
3. Banco Bilbao Vizcaya Argentaria, S.A.
บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำของประเทศสเปนและเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีคะแนน S&P Global ESG Score อยู่ที่ 89 คะแนน และอยู่ในระดับ Gold Class เช่นเดียวกันกับ KB Financial Group Inc.
4. Yuanta Financial Holding Co., Ltd.
บริษัทผู้ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ด้านวาณิชธนกิจ และที่ปรึกษาด้านการลงทุน โดยเป็นบริษัทหลักทรัพยะ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไต้หวัน และมีสินทรัพย์รวมกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน มีคะแนน S&P Global ESG Score อยู่ที่ 85 คะแนน และอยู่ในระดับ Gold Class ของอุตสาหกรรมการบริการทางการเงินและตลาดทุน ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้มีคนเข้าร่วมประเมินกว่า 373 บริษัท
5. Lojas Renner S.A.
บริษัทผู้ประกอบการร้านค้าปลีกด้านแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ผ่านช่องทางแบบ Omni-Channel โดยมีร้านอยู่กว่า 600 ร้านทั่วประเทศบราซิล ประเทศอเจนตินา และประเทศอุรุกวัย มีคะแนน S&P Global ESG Score อยู่ที่ 80 คะแนน และอยู่ในระดับ Gold Class ของอุตสาหกรรมค้าปลีกที่มีบริษัทเข้าร่วมประเมินถึง 306 บริษัท
6. CNH Industrial N.V.
บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าระดับโลกให้แก่อุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ บริษัทได้รับการประเมินตาม CSA ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าและได้คะแนน S&P Global ESG Score อยู่ที่ 88 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับ Gold Class จากการเข้าร่วมประเมินทั้งหมด 267 บริษัท
7. SAP SE
บริษัทผู้ให้บริการซอฟแวร์ชื่อดังที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศเยอรมนี และเป็นที่รู้จักกันดีจากซอฟต์แวร์ระบบวางแผนทรัพยากรขององค์กร (ERP) มีคะแนน S&P Global ESG Score อยู่ที่ 79 คะแนน ซึ่งถูกจัดอยู่ในระดับ Gold Class ของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่มีบริษัทเข้าร่วมประเมินกว่า 240 บริษัททั่วโลก
8. Grupo Nutresa S.A.
บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารแรรูปในประเทศโคลัมเบียที่เป็นผู้เล่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมดังกล่าวกว่า 53.7% โดยบริษัทมีคะแนน S&P Global ESG Score อยู่ที่ 88 คะแนน และอยู่ในกลุ่มกลุ่มบริษัทระดับ Gold Class ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งในการจัดอันดับภายในอุตสาหกรรมนี้มีบริษัทที่เข้าร่วมถึง 238 บริษัท
9. PTT Global Chemical Public
บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์จากประเทศไทย บริษัทมีคะแนน S&P Global ESG Score อยู่ที่ 92 คะแนน และอยู่ในระดับ Gold Class ของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่มีบริษัทเข้าร่วมประเมินถึง 234 บริษัท โดยนับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้วที่ได้ตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลกในอุตสาหกรรมนี้
10. Energias de Portugal, S.A.
บริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภคด้านพลังงานแบบบูรณาการ ทั้งสร้างไฟฟ้าและขนส่งไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ ถ่านหิน นิวเคลียร์ ขยะ ลมและแสงอาทิตย์ โดยบริษัทมีคะแนน S&P Global ESG Score อยู่ที่ 91 คะแนน และอยู่ในกลุ่มกลุ่มบริษัทระดับ Gold Class ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งในการจัดอันดับภายในอุตสาหกรรมนี้มีบริษัทที่เข้าร่วมถึง 220 บริษัท
DJSI ถือเป็นอีกหนึ่งในหลายดัชนียั่งยืนที่มีความสำคัญที่นอกจากจะใช้เป็นเกณฑ์วัดให้นักลงทุนใช้ประเมินความเสี่ยงของบริษัทนั้นๆ ในการประกอบการตัดสินใจในการลงทุนแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของบริษัทที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นด้วย ทำให้หลายๆ องค์กรก็พยายามเปลี่ยนแปลงด้วยเป้าหมายร่วมกันที่ต้องการให้อนาคตดีขึ้นสำหรับผู้คนบนโลกนี้ไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกันกับหลายๆ ท่านที่ได้อ่านบทความนี้ก็คงจะตระหนักถึงความสำคัญของมันไม่เพียงเพื่อคุณภาพชีวิตในช่วงชีวิตของท่านเองเพียงเท่านั้น แต่เปรียบได้กับมรดกอันมีค่าที่จะทิ้งไว้ให้ชนรุ่นหลังเช่นเดียวกัน