รู้ลึก Green Economy เทรนด์ธุรกิจโลกยุคใหม่ที่น่าจับตา มูลค่ากว่า 962 ล้านล้านบาท เมื่อหลายประเทศต้องปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ประเทศไทยจึงนำแนวคิดมาใช้เกิดเป็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ขึ้นมา

เป็นที่รับรู้กันดีว่าโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมาก ความเป็นอยู่ของประชากรได้รับผลกระทบเกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันวุ่นวาย ไม่นับเดิมทีที่เราต่างใช้ทรัพยากรกันจนส่งผลต่อธรรมชาติไม่รู้เท่าไหร่ หลายประเทศจึงพยายามสร้างความยั่งยืนและปรับเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ประเทศไทยจึงนำแนวคิดมาปรับใช้เกิดเป็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่นอกจากจะพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและธรรมชาติให้ยั่งยืนแล้ว แนวโน้มอนาคตตลาดอุตสาหกรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับ BCG ยังสดใส ด้วยแนวโน้มติบโตถึง 4.4 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว

โมเดลเศรษฐกิจ BCG คืออะไร ?

คือ โมเดลเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยผ่าน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยใช้การวิจัย และเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าและฟื้นฟูทรัพยากร โดยที่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นเศรษฐกิจภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว

หลายประเทศร่วมกันออกนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าโลกของเรากำลังต้องหาตัวช่วยอย่างแท้จริง อย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีนโยบาย Green Growth Strategy และประเทศเกาหลีใต้ที่มีนโยบาย Green New Deal

BCG ดัน 4 อุตสาหกรรมไทยโตแรง

ประเทศไทยพัฒนา BCG เน้นดัน 4 อุตสาหกรรม New S-Curve เป็นหัวเรือหลักหนุนเศรษฐกิจประเทศไทยโต 4.4 ล้านล้านบาท จากเดิม 3.4 ล้านล้านบาท   ภายในปีพ.ศ. 2569 โดยที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6 ต่อปี นอกจากนี้บริษัทใหม่ ๆ รวมถึงบริษัทที่มีอยู่เดิมทั่วโลกนั้นต่างก็หันมาให้ความสนในเกี่ยวกับความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

อันดับ 1  อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ประเทศไทยมีสัดส่วนการพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกว่า 11.6% (พ.ศ. 2563) โดยลดลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทว่ารายได้ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักกระจุกตัวอยู่ที่หัวเมืองใหญ่ ทรัพยากรรองรับได้ไม่เพียงพอและเกิดความเสียหาย การกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรองที่สามารถเข้าถึงวัฒนธรรมในพื้นที่และการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนจึงได้เป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท ภายในปีพ.ศ. 2569 เลยทีเดียว

  • Holiable ตัวช่วยวางแผนเที่ยวอย่างยั่งยืน แพลตฟอร์มจองแผนท่องเที่ยวออนไลน์เพื่อความยั่งยืน โดยมีดัชนีการรับรองสถานที่ที่เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมไว้ให้นักท่องเที่ยวเลือกตัดสินใจในการเลือกประเภทที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมที่สนใจ

อันดับ 2  อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหาร

นอนาคตเรากำลังเผชิญกับวิกฤตอาหารโลก ดัชนีราคาอาหารเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีจึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยในการแก้ปัญหา ไม่ว่านำไปช่วยในการแก้ปัญหาผลผลิต หรือปรับปรุงการเกษตร นอกจากนี้แม้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมเต็มตัวแล้วภาคการเกษตรก็ยังเป็นภาคที่สำคัญ รายได้จากสินค้าเกษตรโดยตรงที่มีผลตอบแทนน้อยยังมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมากมาย โดยจากการคาดการณ์พบว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารจะมีมูลค่าถึง 0.9 ล้านล้านบาท ภายในปีพ.ศ. 2569 ด้วยเช่นกัน

  • Ricult ดาวเทียมเพื่อเกษตรกร  บริษัทสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยี AI และภาพถ่ายจากดาวเทียมมาช่วยวิเคราะห์พื้นที่ปลูก พยากรณ์ผลผลิตและการจัดการทรัพยากรสำหรับการเพาะปลูกด้านการเกษตร เพื่อช่วยเหลือความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น

อันดับ 3  อุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ

วัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมีมากมายและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Biobased Product) ที่นอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีความต้องการสูงจากความหวังในการทดแทนวัสดุดั้งเดิมจากปิโตรเลียมอย่างพลาสติก ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถนำมาใช้ในการผลิตเป็นพลังงานทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานบางส่วนได้อีกด้วย โดยภายในปีพ.ศ. 2569 คาดว่าอุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพจะมีมูลค่ามากกว่า 2.6 แสนล้านบาท  

  • Spiber เส้นใยจากโปรตีน  บริษัทสตาร์ทอัพประเทศญี่ปุ่น ผลิตเส้นใยจากโปรตีนพืชซึ่งผ่านการหมักจุลินทรีย์ เกิดลักษณะเป็นเส้นใยนุ่มฟูเหมือนผ้าขนสัตว์ ย่อยสลายได้ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นำไปใช้งานได้หลากหลายทั้งในอุตสาหกรรมแฟชั่น ตลอดจนอุตสาหกรรมยานยนต์

อันดับ 4  อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์

จากสถิติพบว่าคนเรามีอายุยืนยาวมากขึ้นทำให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพและการแพทย์ยิ่งเพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วแล้วการพัฒนาทางการแพทย์จึงเป็นส่วนสำคัญ แม้ปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีการนำเข้ายารักษาโรคซึ่งมีราคาสูง แต่ศักยภาพทางการแพทย์ และโอกาสการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ของประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นที่น่าจับตามองด้วยมูลค่าอุตสาหกรรมนี้ที่อาจสูงถึง 9 หมื่นล้านบาทในปีพ.ศ. 2569 

  • DSM กระดูกเซรามิก  บริษัทนวัตกรรมชั้นนำผลิตวัสดุเซรามิกชีวภาพ (Bioceramic) ที่มีคุณสมบัติทนทานสูง สามารถนำมาปรับใช้ด้านการแพทย์เช่นการศัลยกรรมกระดูก หรือการทดแทนวัสดุด้านทันตกรรมสำหรับผู้ที่ผ่าตัด หรือสูญเสียฟัน

First-Mover Advantage

เดิมทีปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญจากวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื้อรังมานานหลายปีนี้ยิ่งถูกเน้นให้เห็นได้ชัดเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด กระนั้นเหรียญย่อมมีสองด้าน โอกาสที่มีให้เห็นจากการเติบโตของหลาย ๆ อุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) นี้คงเป็นเหมือนรถไฟที่หลาย ๆ ธุรกิจอยากจะเข้ามาร่วมขบวนด้วยการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Transformation)  ขึ้นอยู่ที่ว่าใครเร็วหรือช้า ซึ่งไม่ว่าอย่างใดนั้นเราต่างก็ทราบกันดี คำว่า First-Mover Advantage ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ

 

#bcgmodel #greeneconomy #bioeconomy #circulareconomy #baramizi #baramizioutlook