Ageing Society : 1 ใน 7 Key Impact ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

Key Impact from From Mega Trend to Property Sector 2019-20
เนื้อหาส่วนนี้คือการวิเคราะห์แนวโน้ม Mega Trend ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จนเกิดผลกระทบที่น่าจับตามอง 7 ข้อ ได้แก่

1. Urbanization
2. Ageing Society
3. Digital Transformation
4. Utopia World
5. Status Seeker
6.Wellness Life
7.Disaster Adaptive

Ageing Society คือ 1 ใน 7  Key Impact ที่น่าสนใจและส่งผลต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง

Ageing Society คืออะไร?

องค์การสหประชาชาติ (United Nations:UN) ได้ให้นิยาม ผู้สูงอายุ (Older person) หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” คือปรากฎการณ์ที่ผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ความเข้มข้นของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสามารถแบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่

1) ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ
หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

2) ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ
หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

3) ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ
แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

– ประชากรโลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในอีก 35 ปี ข้างหน้า โดยจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด
– ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมผู้สูงอายุไปสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยในขณะนี้ไทยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนร้อยละ 10 หรือมากกว่า 7 ล้านคน และภายในปี 2583 ประชากรในกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ 

– ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์

 

Ageing Society เกิดจากอะไร?  ก่อตัวมานานแค่ไหน?

ปัจจัยที่ทำให้เกิด “สังคมผู้สูงอายุ” มีหลายปัจจัย ได้แก่

– การพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ที่เจริญก้าวหน้า ทำให้ประชาชนได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น มีการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข, อนามัยโรงพยาบาลและการคมนาคมขนส่งได้อย่างทั่วถึงประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น, มีการศึกษาที่ดีขึ้น รู้จักดูแลรักษาสุขภาพอนามัยทำให้ประชาชนมีอายุยืน
– ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์
ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีนวัตกรรมใหม่ที่รักษาโรคและควบคุมโรคระบาด การบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาว
– นโยบายการวางแผนครอบครัวหรือการควบคุมการมีบุตร
จากนโยบายวางแผนครอบครัวให้มีบุตรน้อยลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ทำให้บางประเทศที่มีนโยบายวางแผนครอบครัวมีอัตราการเกิดลดลงอย่างรวดเร็ว

อัตราเพิ่มของประชากรสูงอายุ จะเร็วกว่าประชากรโดยรวมทั้งหมด ดังจะเห็นได้จาก ระหว่างปี 2523 ถึงปี 2533 ประชากรสูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 47 แต่เมื่อเปรียบเทียบการเพิ่มระหว่างปี 2523 ไปจนถึงปี 2563 จะพบว่าประชากรสูงอายุ จะเพิ่มสูงถึงกว่าร้อยละ 300 (รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ, 2542)

 

Ageing Society สำคัญยังไง จะทำให้เกิดอะไรต่อไป?

– ภายในปี 2045 สัดส่วน สัดส่วนผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 25% สังคมผู้สูงอายุส่งทำให้เกิดผลกระทบตามมา ดังต่อไปนี้
– การผลิตลดลง รายได้ประชาชาติลดลง เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้ปัจจัยการผลิตทางด้านแรงงานลดลง การออมลดลง รายได้ประชาชาติลดลง ทั้งนี้การที่แรงงานลดลงอาจแก้ไขโดยการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคนหรือใช้แรงงานต่างด้าวซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานมากขึ้น
– การเพิ่มสวัสดิการและการรักษาพยาบาล รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลและปฐมพยาบาลผู้สูงอายุมากขึ้น

– ปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง การที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจะต้องทำงานมากขึ้นและต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น บางครั้งอาจทำให้ผู้สูงอายุขาดความอบอุ่นหรืออาจถูกทอดทิ้งได้

– ปัญหาทางด้านสภาพจิตใจ เมื่อถึงวัยเกษียณอายุ ไม่ได้ทำงานทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเหงา ไม่ภาคภูมิใจเหมือนเป็นภาระกับลูกหลาน อาจรู้สึกน้อยใจ ซึมเศร้า จึงจำเป็นต้องมีคนดูแลเอาใจใส่

ปัญหาสุขภาพร่างกาย ตามปกติผู้สูงอายุจะมีสุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม ต้องใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นขณะที่ไม่มีรายได้ จึงทำให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก การวางแผนสะสมเงินออมเพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในวัยชราจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ด้วยผลกระทบของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุดังกล่าว จึงเกิดแนวคิดของการปรับนโยบายรัฐในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุในหลายๆ ด้าน อาทิ
– การขยายอายุเกษียณ เพื่อเพิ่มจำนวนคนวัยทำงาน ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
การสนับสนุนให้บริษัทจ้างงานผู้สูงอายุ ช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับผู้สูงอายุ
เพิ่มทักษะและการจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงาน ช่วยเพิ่มความสามารถในการหารายได้ และยกระดับผลิตภาพของแรงงานในระยะยาว

– การยกระดับคุณภาพชีวิตจำเป็นต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ วางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ

นอกจากนี้การเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังทำให้เกิดเทรนด์ทางธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุอีกด้วย อาทิ ธุรกิจที่ปรึกษาวางแผนทางการเงินหลังเกษียณ, ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ, ธุรกิจฟิตเนสเทรนเนอร์ เฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ, สถานดูแลผู้สูงอายุ, ธุรกิจท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ, ธุรกิจสัตว์เลี้ยงดูแลผู้สูงอายุ, เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ, ธุรกิจความงามเพื่อการชะลอวัย เป็นต้น

 

Ageing Society กับผลกระทบต่อวงการอสังหาริมทรัพย์

– ที่พักอาศัยของผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นสัดส่วนหลักของตลาดที่พักอาศัย ภายในปี 2030  1 ใน 3 ของผู้ที่พักอาศัยในกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) จะมีผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย
– ตัวเลขของผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวจะสูงมาก ณ ตอนนี้ ราว 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุในประเทศ OECD จะอยู่คนเดียว และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
– ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเป็น Age in place มากขึ้น  หรือคือการอยู่ในที่พักอาศัยที่เดิมที่มีสังคมอยู่ด้วย ไม่ได้ย้ายออกไปบ้านใหม่, ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือชุมชนผู้สูงอายุ

– มีแนวโน้มการปรับปรุงบ้านใหม่เก่าเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้นานขึ้น

ในประเทศสิงคโปร์  ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุของดังนี้
– Senior Priority Scheme นโยบายส่งเสริมสัดส่วนที่พักอาศัยผู้สูงอายุ ด้วยสัดส่วนอย่างน้อย 40% ของอาคาร ผู้สูงอายุสามารถสมัครเพื่อรอรับสิทธิ์จับสลากเลือกที่พักอาศัยที่ HDB
(หน่อยงานพัฒนาเคหะแห่งชาติ (Housing and Development Board – HDB) สร้างไว้
– Multi-Generation Priority Scheme นโยบายส่งเสริมให้ครอบครัวพักอาศัยด้วยกันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูกหลาน โดยจะได้สิทธิ์เลือกทำเลที่ตั้ง และพื้นที่ห้องกว้างขึ้น เช่น ห้องพักขนาด 2-3 ห้องนอน เป็นต้น (terrabkk, 2018)

ในไทยเองก็เกิดการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับผู้สูงอายุ อาทิ เช่น
– “จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาท์ตี้” ที่พักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไลฟ์สไตล์และบริการด้านสุขภาพแบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “เมืองแนวคิดใหม่เพื่อวัยเกษียณ” มูลค่าโครงการกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในจังหวัดปทุมธานี

– แอล.พี.เอ็น, ชีวาทัย, นายณ์ เอสเตท รวมกับช.การช่าง จัดตั้ง “กมลา ซีเนียร์ ลิฟวิ่ง” โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ระดับพรีเมี่ยม ที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้คอนเซปต์ “ไลฟ์สไตล์ซีเนียร์ลิฟวิ่ง” เจาะกลุ่มลูกค้าตลาดบน

– “โรงพยาบาลปิยะเวท” อยู่ระหว่างการพัฒนาโปรเจคบ้านสูงวัย ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด