สรุปเทรนด์ที่น่าสนใจจากงาน INNOVATOR X TALK : INVENT FOR THE FUTURE

วันที่ 9 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมานี้ ทาง  Baramizi Group ร่วมกับ wazzadu.com และ CDC ได้ร่วมกันจัดงาน INNOVATOR X TALK : INVENT FOR THE FUTURE งานทอล์คสุดยอดนวัตกรทางสถาปัตยกรรม เทคโนโลยี และวัสดุศาสตร์ประจำปี 2023 ทางศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซ็ปต์แห่งอนาคต บารามีซี่แล็ป ได้ทำการศึกษา และสกัดออกมาเป็น 5 แนวโน้มที่น่าสนใจ ดังนี้

1. Net Zero

การออกแบบเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจุกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นโดยเฉลี่ยเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเรื่องนี้เองเป็นประเด็นที่ผู้นำระดับโลกทุกคนสนใจ สำหรับองค์กรเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ กระแสแรกที่มาแรงก็คือเรื่อง ESG ซึ่งก็คือแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ที่ย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance เพราะหากองค์กรใดหรือสินค้าใดไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ก็จะถือว่าเป็นองค์กรและสินค้าที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน  อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Green Premium ส่วนต่างของราคาที่เรายอมจ่ายมากกว่าเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่ Eco-Friendly  ทำให้ผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ไม่อยากจ่าย และนั่นเป็นอุปสรรคสำคัญทีจะแก้ปัญหาโลกร้อน แสดงให้เห็นว่าการลด Consumption ไม่ใช่ทางออกของ Net Zero แต่สิ่งที่จะทำให้เกิด Net Zero ได้จริงคือการที่ต้องมี Climate Tech ไปลด Green Premium ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากกว่าความยั่งยืนของโลกคือจำนวนเงินในกระเป๋าตัวเอง

2. Nature-Being

บ้านเหนือน้ำ

การออกแบบซึ่งคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของธรรมชาติ หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจคือโครงการ “บ้านเหนือน้ำ” ที่ออกแบบโดย Looklen Architects ที่เป็นการรีโนเวทโครงการร้านอาหาร ให้ตอบโจทย์การขายที่เพิ่มมากขึ้น หนึ่งในลูกเล่นที่เป็นภาษาสถาปัตยกรรมคือการใช้สัจจวัสดุเพื่อดึงความเป็นธรรมชาติของวัสดุออกมา ภาพรวมอาคารจะมีวัสดุหลักประมาณ 4-5 วัสดุ นั่นคืออิฐมอญเทา ไม้ไผ่รวก ไม้สัก ทรายล้าง หินขัดที่ไม่มีการทำสีวัสดุเพิ่มเติม หนึ่งในบริเวณที่ใช้คือ ผนังโค้งซึ่งสถาปนิกตั้งใจให้เกิดความรู้สึกปิดล้อม ในขณะที่ยังเปิดให้มีลม หรือมีเสียงริมแม่น้ำ เสียงดนตรีลอดเข้ามาได้ จนมาลงตัวที่ผนังกึ่งทึบกึ่งโปร่งที่เกิดจากการวางอิฐโมดูลเดียวกันในลักษณะสามมิติ ในส่วนของผนังแนวยาวสูงสองชั้นที่ชิดติดริมฝั่งหนึ่งของร้าน ใช้อิฐชนิดเดียวกันมาติดตั้งในลักษณะซ้อนเกล็ด เพื่อให้ได้บรรยากาศบ้านแบบไทย ๆ และยังมีความเป็นคลื่น สะท้อนถึงบริบทและโลเคชัน อีกโครงการที่ตีความคำว่าธรรมชาติใหม่ กับ Museum of Modern Aluminum หรือ MoMA โดย HAS design and research นี่คือโครงการอาคารสำนักงานและโชว์รูมแห่งใหม่ของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ที่ออกแบบมาจากแนวคิดการตีความว่าเมืองสมัยใหม่เปรียบได้ป่าอลูมิเนียม (Metal Nature City) เขาจึงหยิบเอาวัสดุที่มีอยู่เกลื่อนเมืองนี้มาออกแบบอาคารสำนักงานและโชว์รูมอลูมิเนียมในคอนเส็ปต์การตีความอลูมิเนียมเหล่านี้ให้เป็นธรรมชาติในมุมมองใหม่ในโครงการ

Museum of Modern Aluminum

3. The Story of Hometown

การออกแบบซึ่งสร้างบรรยากาศของความผูกพันกับบ้าน และอัตลักษณ์พื้นถิ่น จากผลงานการออกแบบของบริษัท Baanrai Design Architects โดยเจ้าของชื่อคุณเบส วิโรจน์ ฉิมมี ที่เป็นทั้งเจ้าของและผู้ออกแบบ “บ้านไร่ ไออรุณ” จ. ระนอง งานที่จะหยิบยกมาเล่าเป็นอีกงานหนึ่งคือรีสอร์ทและร้านอาหารที่ตั้งอยู่ที่จ.นครศรีธรรมราช ที่ถูกออกแบบผ่านแนวคิดของมโนห์รา ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้มาใช้ในการออกแบบ โดยรูปทรงของอาหารได้แนวคิดมาจากท่าพนมมือของมโนห์รา และลายผ้าพื้นถิ่นที่ถูกถอดมาใช้เป็นดีเทลของการออกแบบ คุณเบสใช้วัสดุวิธีการทำงานก่อสร้างเชิงช่าง ในแบบที่ชาวบ้านทำได้ คนในชุมชนมีงานทำ บรรยากาศของสถานที่ หรือเรื่องราวที่ให้เห็นถึงความ สัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ ชีวิต ผู้คน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยยังรักษา ระบบนิเวศเดิมของธรรมชาติเดิมต่อพื้น เป็นการหยิบเอารากมาออกแบบ ให้ทุกครั้งเราจะสัมผัสได้ถึงเรื่องราวของพื้นถิ่นที่เป็นบ้านเกิดของพื้นที่นั้นๆ

4. Pet Centric, More than Pet Friendly

การออกแบบที่พักอาศัย ที่ไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง เหมือนโครงการที่พักอาศัยที่เริ่มมีการปรับใช้นโยบายนี้ เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้าที่เลี้ยงสัตว์ แต่สำหรับโครงการ “บ้านหมา/ บ้านคน” จาก EKAR Architects ที่ไปคว้ารางวัล “การออกแบบยอดเยี่ยม” โกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด (Golden Pin Design Award) เป็นโครงการที่เจ้าของรักสุนัขมาก จนโจทย์ตั้งต้นมาจากการออกแบบบ้านเพื่อสุนัขโดยเฉพาะ แต่หลังจากที่พูดคุยกับสถาปนิก จึงได้ข้อสรุปว่าบ้านหลังนี้ควรจะเป็นบ้านที่ออกแบบมาเพื่อให้คนและหมาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โครงการมีการออกแบบโครงการอย่างพิถีพิถันเพื่อสุนัข นอกจากสนามหญ้าไว้สำหรับวิ่งเล่น และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับสุนัขโดยเฉพาะแล้ว ยังมีดีเทลที่ถูกออกแบบเอาไว้น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นฐานเสาที่ทำความสะอาดง่ายตอบโจทย์สุนัขที่ชอบปัสสาวะบริเวณเสา, สระว่ายนำที่มาพร้อมขั้นบันได ช่วยให้สุนัขปีนขึ้นจากสระได้ง่ายขึ้น

โดยรวมทั้งหมดนี้ เหล่านี้จึงเป็นไปได้จริงสำหรับชีวิต ที่มนุษย์และสัตว์เลี้ยงได้อาศัยอยู่เคียงข้างกัน

5. Shaping Behavior by Design

NANA COFFEE ROASTERS BANGNA

การออกแบบที่ไม่ใช่เพียงการออกแบบเพื่อประโยชย์ใช้สอย และความงามเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างประสบการณ์การออกแบบที่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งาน โครงการที่น่าสนใจคือการออกแบบร้านกาแฟ NANA COFFEE ROASTERS BANGNA ของ IDIN Architects ที่ผู้ออกแบบไม่ได้ต้องการให้ลูกค้ามองไปที่งานออกแบบ  ด้วยการออกแบบตัวสถาปัตยกรรมให้เรียบที่สุด และกลมกลืนกลายเป็น Background  ทำให้ลูกค้าได้ละเมียดละไมในรสชาติของกาแฟตรงหน้า ท่ามกลางบรรยากาศดีๆ ของร่มไม้

อีกงานที่น่าสนใจ จากสถาปนิก  และเจ้าของรายเดียวกัน นั่นคือร้านกาแฟ Harudot ตรงกันข้ามจากโครงการก่อนหน้า โครงการนี้เจ้าของต้องการสร้างสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสะดุดตา  IDIN Architects จึงออกแบบให้โครงการมีรูปทรงเป็นรูปทรงจั่วที่บิดไปมา ห่อคลุมผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเห็นผนังที่ยาวโอบคลุมไปบรรจบกันด้านบน และบิดโค้งเลื่อนไหล มองไปทางไหนก็ช่างดูมีความเคลื่อนไหว ทำให้ลูกค้าอยากหยิบมือถือออกมาถ่ายรูป