เทคนิคการเข้าใจผลวิจัยด้วยการใช้ภาพของ IDEO

ในยุคสมัยนี้ การทำวิจัยถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของเราว่าเค้ามีพฤติกรรม, ทัศนคติ, วิธีคิด, กระบวนการตัดสินใจ ตลอดจนความต้องการที่มีต่อสินค้านั้นๆเป็นอย่างไร หนึ่งในกระบวนการวิจัยที่สำคัญคือ การเรียบเรียงและถอดเอาประเด็นที่สำคัญมาใช้งาน นั่นคือกระบวนการ Data Translation ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านการวิจัยมาทำความเข้าใจข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้มาจากการทำการวิจัยภาคสนาม และนอกจากนั้นเราอาจต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการต่อสู้กับความเยอะและยุ่งเหยิงของข้อมูล

และถึงแม้สำหรับใครที่ไม่ได้ทำงานด้านการวิจัยโดยตรง เชื่อว่าในการทำงานของทุกคน ต้องมีบ้างที่จะต้องจัดการกับข้อมูลมหาศาล วันนี้เราจะมาแบ่งปันหนึ่งในวิธีการทำงานของบริษัท IDEO บริษัทออกแบบและที่ปรึกษาด้านการออกแบบชั้นนำ นั่นคือการใช้ภาพมาช่วยในการสรุปงานวิจัย โดย Nadia Surtees, นักวิจัยเพื่อการออกแบบที่ IDEO สาขา ซานฟรานซิสโก

เมื่อทีมออกแบบกลับมาจากการวิจัยภาคสนามในหัวข้อเรื่องอนาคตของยานพาหนะที่ใช้ร่วมกัน” (Future of shared vehicles) พวกเขาก็เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจมากมายจากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและการสังเกตผู้ใช้งาน รวมไปถึงรูปภาพ, วีดีโอ และ Post-It เป็นร้อยๆ ในขณะที่พวกเขาต้องจมอยู่กับทะเลข้อมูล นาเดียก็รู้สึกตระหนกขึ้นมาว่า คำตอบที่เธอต้องการมันจะอยู่ในกองข้อมูลเหล่านี้จริงๆหรือ?

ช่วงเวลาที่น่าลำบากใจในกระบวนการออกแบบเหล่านี้ เธอเรียกมันว่าการสังเคราะห์” (Synthesis) เมื่อนักออกแบบเริ่มจะกลั่นข้อมูลจากงานวิจัยออกมาเป็นโอกาสที่จับต้องได้  การสังเคราะห์นี้มันอาจจะให้ความรู้สึกคลุมเคลือ ทื่อ และยุ่งเหยิงในคราวเดียวกัน

แต่สำหรับนาเดีย เธอมีวิธีการเอาชนะความยุ่งเหยิงนี้โดยวิธีการที่เรียกว่า “Sketch Synthesis” ซึ่งมีกระบวนการดังต่อไปนี้

อันดับ1 : ปอกมันออกมา (Pare it down)

อันดับแรก เอาสิ่งที่บันทึกทั้งหมดจากบทสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ และประสบการณ์ทั้งหมด นำมาอยู่ในบอร์ดแต่ละอันที่แยกจากกัน จากนั้นกลั่นเอาข้อมูลเหล่านั้นในแต่ละบอร์ดแปลงเป็นรูปวาดให้อยู่ใน Post-It (กระดาษโน้ตกาว) 4 – 5 อัน

(ภาพจาก www.ideo.com/blog)

ภาพสเกตช์ด้านบนนำมาจากการสัมภาษณ์ผู้ใช้งานที่ต้องเดินทางบ่อยๆ สะท้อนไอเดียด้านประสบการณ์การท่องเที่ยวของเขา : อย่างรูปแรกคือการดึงเอาประสบการณ์ภายนอกเข้ามาอยู่ภายใน และขยายขอบเขตให้สถานที่นั้นกลายเป็น Co-Working Space ได้ด้วย

ภาพสเกตช์นี้อาจจะเป็นตัวละคร, สัญลักษณ์, กราฟ หรืออะไรก็ได้ที่จะช่วยเตือนความจำให้กับคุณ คุณไม่ต้องเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ก็วาดรูปได้ แนวคิดคือการที่คุณสามารถสรุปสิ่งที่คุณได้เรียนรู้ออกมาเป็นภาพได้ แม้จะเป็นรูปคนก้างปลาก็ไม่ผิด!

 

อันดับ2 : จัดกลุ่ม (Cluster it up)

จากนั้นนำภาพสเกตช์ที่แยกกันเป็นรูปๆ เหล่านั้นรวมเข้าเป็นชุด ด้วยแกนต่างๆ

(ภาพจาก www.ideo.com/blog)

อย่างกลุ่มนี้เน้นไปที่การจัดด้วยสถานที่ซึ่งมันก็จะเป็น My Map ที่รวมเอารูปที่เล่าเรื่องประสบการณ์, การสัมภาษณ์, ข้อมูลทุติยภูมิ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้นๆ อย่ากลัวที่จะทิ้งไอเดียที่ไม่โดดเด่นเพียงพอ เป้าหมายของขั้นตอนนี้คือการจัดกลุ่ม และกลั่นเอาสิ่งที่คุณได้เรียนรู้โดยใช้การวาดเป็นเครื่องกรอง

อันดับ3 : แลกเปลี่ยนกัน (Talk it through)

นาเดียเชิญทีมที่เหลือมาช่วยกันดูกลุ่มของรูปวาดเหล่านั้น ร่วมกันแปลงกลุ่มรูปเหล่านี้ออกมาเป็นประเด็นคำถามทางการออกแบบที่ชัดๆ เพื่อช่วยให้เราเข้าใจได้เห็นภาพมากขึ้น

เป้าหมายคือการแบ่งปันความเข้าใจนี้ให้กับคนอื่น ช่วยให้คุณเก็บเกี่ยวใจความสำคัญของการวิจัยให้ได้

(ภาพจาก www.ideo.com/blog)

กลุ่มของภาพสเกตช์เหล่านี้จะช่วยให้ทีมสามารถรวบรวมความคิดและเก็บเกี่ยวคำถามที่เราตั้งใจจะค้นจากลูกค้าของเราในโปรเจคถัดไป ซึ่งมันช่วยให้ทีมจับใจความสำคัญของการวิจัย และชี้ให้เห็นแนวทางของนวัตกรรมการขนส่งรูปแบบใหม่

Sketch Synthesis คือวิธีในการสร้างความกระจ่าง และแรงกระตุ้นให้เราสามารถผ่านช่วงเวลาแย่ๆในกระบวนการออกแบบได้

การวาดรูปยังเป็นพื้นฐานในการออกแบบซึ่งทีมสามารถทำได้และทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายๆ และการสเกตช์ยังเป็นภาษาสามัญในการสื่อสารของนักออกแบบ โดยเฉพาะที่ IDEO ซึ่งมีคนมาจากทั่วโลก นาเดียต้องร่วมงานกับนักออกแบบจากเยอรมัน, เกาหลีใต้, ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

ในขณะที่เธอเลือกใช้การสเกตช์ เราอาจเลือกวิธีการอื่นๆที่เราชอบเพื่อถ่ายทอดความคิดของเราออกมา ผ่านการแสดงตามบทบาท (Role Play), การเขียน, การทำภาพยนตร์, หรือข้อมูล ไม่จำกัดการสร้างสรรค์วิธีการเพื่อที่จะช่วยให้ทีมคุณสามารถสังเคราะห์ข้อมูลออกมา

เคล็ดลับคือการเดินหน้าไป แม้ว่ามันจะดูยุ่งเหยิง และควรต้องรู้สึกสนุกในระหว่างทาง

 

ที่มา

https://en.wikipedia.org/wiki/IDEO

https://www.ideo.com/blog/to-make-sense-of-messy-research-get-visual