Top 5 บริษัทอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่ามากที่สุด พร้อมดูเทรนด์ใหม่ในตลาดปี 2023

วันที่ 12 เดือนธันวาคมแบบนี้ คงไม่พ้นเทศกาลช้อปใหญ่เดือนสุดท้ายเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2023 ที่ไม่เพียงจะเป็นวันที่ทุกท่านรอคอยเนื่องจากเป็นวันเลขเบิ้ลที่ต่างมีโปรโมชั่น หรือโค้ดส่วนลดแจกมากมาย แต่เป็นก็เป็นโอกาสดีสำหรับเตรียมซื้อของขวัญปีใหม่ให้กับคนรอบตัวท่านด้วยเช่นกัน

นอกจากห้างร้านต่างๆ ที่พากันได้ประโยชน์จากช่วงนี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็ยิ่งวุ่นไม่แพ้กันเพราะนอกจากจะวุ่นกับปริมาณของต่างๆ ที่ต้องส่งแล้ว ยังต้องวุ่นกับผู้เล่นในตลาดที่นับวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่ท่านอาจกำลังเลือกซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มดัง หรือบางธุรกิจอาจจะกำลังเตรียมส่งของให้ถึงที่มือลูกค้าทุกท่าน วันนี้ทางเราจึงมาคั่นขอเสนอ 5 บริษัทอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก พร้อมด้วยเทรนด์ในปีหน้านี้

Top 5 บริษัทอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

อันดับที่ 1 Amazon 

มีมูลค่า 908.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้นำในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ใครๆ ต่างก็ต้องรู้จักจากการเป็นธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ชั้นนำของอเมริกาที่มีสินค้าหลากหลายประเภท นอกจากนี้ Amazon ยังเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดอันดับ 5 ของโลกอีกด้วย

อันดับที่ 2 Alibaba 

มีมูลค่า 249.92 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่เป็นธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ของจีนและเป็นหนึ่งในธุรกิจของ Alibaba Group ที่นอกจากจะมีมูลค่ารวมกว่า 6.77 แสนล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ. 2560 แต่ยังเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินมากที่สุดในโลกอีกด้วย

อันดับที่ 3 Meituan 

มีมูลค่า 141.10 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการค้าปลีกท้องถิ่นของจีน

อันดับที่ 4 Pinduoduo 

มีมูลค่า 113.42 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ด้านการเกษตรของจีน ที่เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคโดยตรง

อันดับที่ 5 Jingdong Mall 

มีมูลค่า 108.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ประเภท B2C รายใหญ่ที่สุดของจีน

ซึ่งจากมูลค่าและที่มาของต้นกำเนิดประเทศของแต่ละบริษัทก็คงจะสามารถบอกได้อย่างเต็มปากว่าจีนเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ซึ่งรองลงมาก็ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเยอรมัน ซึ่งต่างเป็นประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลกทั้งสิ้น

ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซในปีนี้

โดยในปี 2022 นี้ ผลการสำรวจพบว่าผู้มีบริโภคมีการใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 48% หรือเกือบ 5 เท่า ตั้งแต่ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภคกว่า 63% ซื้อของใช้ผ่านช่องทางออนไลน์ และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 86% ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมคงไม่พ้นสินค้าจากหมวดหมู่สุขภาพอย่าง เครื่องฟอกอากาศ เครื่องซักผ้า หมวดหมู่อุปกรณ์ Work From Home และหมวดหมู่เครื่องครัว ซึ่งสาเหตุก็มาจากการที่เราใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย 

โดยปัจจุบันผู้ใช้จ่ายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 10% นี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วยเช่นกัน เพราะตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้ผู้คนหันมาบริโภคออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มากขึ้นถึง 45% ไม่รวมการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ก็ยิ่งเป็นตัวผลักดันตลาดอีคอมเมิร์ซที่สำคัญด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Assistants) หรือการพัฒนาเทคโนโลยีแชตบอต (Chatbots) ที่อำนวยความสะดวกในการสั่งซื้อ ธุรกิจต่างๆ ซึ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ในการทำการตลาดแบบ Personalization ก็ยังได้ผลลัพธ์ที่ดีจากการมียอด Conversion rate ถึง 93% และมีแนวโน้มการกลับมาซื้อซ้ำของผู้บริโภคถึง 44% เลยทีเดียว

เทรนด์อีคอมเมิร์ซไทยปี 2023

ก่อนจะเข้าเทรนด์ในไทยก็คงต้องพูดถึงแนวโน้มตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราสักหน่อย โดยรายงานประจำปี SYNC Southeast Asia ที่สำรวจจากผู้บริโภคกว่า 16,000 คน และผู้บริหารจากบริษัทต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 20 คน พบว่าภูมิภาคที่มีผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 370 ล้านคนนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะยังมีอัตราการเติบโตของ GDP ที่ดีกว่าตลาดอื่นๆ ที่เจอปัญหาขัดแย้งต่างๆ ที่ถือเป็นข้อดีที่ส่งผลทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซยังเติบโตอยู่ โดยที่ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้มักชอบทดลองสินค้าใหม่ๆ ซึ่งเห็นได้จากการเปลี่ยนแบรนด์ที่ซื้อบ่อยขึ้นและมีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่หลากหลายมากกว่าเดิม 

ในส่วนของผู้บริโภคในประเทศไทยนั้นจากการสำรวจพบว่า ชาวไทยมีการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เฉลี่ยต่อครั้งอยู่ที่ 1,638.30 บาท โดยแนวโน้มยอดขายคาดว่าจเติบโตตามภูมิภาคนี้ และส่วนหนึ่งมาจากภาคท่องเที่ยวที่เริ่มดีขึ้นจากการเปิดประเทศ ซึ่งดูแล้วก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเหล่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลายเจ้าในประเทศไทยที่เริ่มหันมาปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อทำรายได้ และกำไรให้มากขึ้น จากเดิมที่แข่งกันด้านลงทุนหวังเติบโตและครองตลาด 

โดยในปีหน้านี้แนวโน้มผู้บริโภคยังมองหาเนื้อหาที่ดึงดูดใจมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของวิดิโอ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์วิดิโอ หรือวิดิโอสตรีมมิ่งอย่าง Live โดยเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ทำแบบสำรวจของ SYNC Southeast Asia พบว่าวิดิโอเป็น 1 ใน 3 ช่องทางยอดนิยมที่ตนใช้ในการค้นพบและประเมินสินค้าต่างๆ นอกจากนี้จากการแข่งขันของอีคอมเมิร์ซใหญ่และแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้แพลตฟอร์มใหญ่บางเจ้าหันมาเล่นในตลาดบ้าง ไม่ว่าจะ Line Facebook TikTok นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสดีของเหล่าธุรกิจทั้งหลายๆ ที่อยากจะเข้าหาผู้บริโภคได้มากขึ้น และสามารถทำการตลาดในรูปแบบใหม่ๆ ได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น Affliate Marketing เป็นต้น

โอกาสท่ามกลางความผันผวน

แม้ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนและเอาแน่ไม่ได้ ทว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ยังคงมีโอกาสสำหรับเหล่าธุรกิจทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบไม่มากนักและจากพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปทางออนไลน์และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่ตลาดอีคอมเมิร์ซนั้นมีแนวโน้มเฉลี่ยทบต้นแล้วเติบโตเพิ่มขึ้น 14% ระหว่างปีค.ศ. 2022-2027 และแม้จะมีการแข่งขันในด้านราคาหรือด้านคุณภาพต่างๆ แต่ก็ถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเติบโตและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นกว่าเดิม

_____________________

ขอขอบคุณแหล่งที่มา:

https://www.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia 

https://companiesmarketcap.com/e-commerce/largest-e-commerce-companies-by-market-cap/ 

https://www.rainmaker.in.th/trend-and-statitic-ecommerce-2022/ 

https://www.thumbsup.in.th/e-commerce-trend-worldwide-2022 

https://www.paysolutions.asia/article/thailand-ecommercetrend2023.html