ถ้าจะไม่พูดถึงคงไม่ได้ กับแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดหน้าใหม่ที่เปิดในไทยได้ไม่นานมานี้ กับแบรนด์ “Shake Shack” นอกจากเบอร์เกอร์ที่หน้าตาอร่อยแล้ว ประวัติและความโดดเด่นของแบรนด์นี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
จุดเริ่มต้นจากสวนสาธารณะ
ถึงจะพูดถึงเบอร์เกอร์ แต่แท้จริงแล้วแบรนด์จากสหรัฐอเมริกานี้เริ่มต้นมาจากการขายฮอทดอก (Hotdog) ในปี 2001 ที่สวนสาธารณะ Madison Square Park ในนิวยอร์ก ก่อนความอร่อยจะถูกบอกปากต่อปากจนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขยายเมนูจากฮอทดอกไปเมนูอื่นอย่าง แฮมเบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอด รวมถึงมิลค์เชคด้วยนั่นเอง
สิ่งที่ Shake Shack ทำ
1. Healthy สุขภาพมาก่อนเสมอ
แม้จะไม่ได้ใช่เรื่องใหม่ เมื่อหลายแบรนด์เชนใหญ่เจ้าดังต่างก็เริ่มหันมาพูดถึงสุขภาพมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกันว่าด้วยเรื่องอายุก่อตั้งที่น้อยกว่าแล้ว ในขณะที่อื่นอายุเกือบร้อยปี การที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด Shake Shack เล่นชูเรื่องเมนูที่รักสุขภาพและสร้างทางเลือกเมนูที่หลากหลายสำหรับคนทุกประเภท เช่น เมนูมังสวิรัติ ก็เรียกว่าทางแบรนด์ก็ประสบความสำเร็จและโดดเด่นในด้านนี้เลยทีเดียว
2. Premium เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ
Shake Shack จัดว่าเป็นแบรนด์ระดับกึ่งพรีเมียม ที่แบรนด์เห็นช่องว่างของธุรกิจระหว่างร้านอาหารพรีเมียมและร้านฟาสต์ฟู้ดแบบเก่า บวกกับคนรุ่นใหม่ที่ยินดีจ่ายเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใคร แบรนด์จึงตั้งสโลแกนอย่าง Stand For Something Good และดำเนินแผนตามนั้นทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เนื้อสัตว์ที่ปราศจากยาปฏิชีวนะและฮอร์โมน ไม่ใช้สารปรุงแต่งเทียม ใช้น้ำตาลจริงแทนน้ำเชื่อมข้าวโพด และใช้นมจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่รับประกันได้ว่าไม่ใช้ฮอร์โมนเร่ง ทั้งยังปรุงสดใหม่ไม่แช่แข็ง เรียกได้ว่านอกจากอร่อยและมีคุณภาพแล้ว ก็ยังรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมๆกัน
3. Local เข้าถึงในคนท้องถิ่น
แบรนด์ไ้ด้มีการออกแบบการตกแต่งร้านและเมนูเฉพาะตัวให้เข้ากับเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ โดยผสมผสานกับความเป็นอาหารฟาสต์ฟู้ดแบบอเมริกันได้อย่างลงตัว เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษให้กับลูกค้าได้อย่างสมดุล ยกตัวอย่างเช่น เมนู Pandan Sticky Rice Shake เมนูมิลค์เชคข้าวเหนียวเจลลีใบเตยในไทย เมนู Cherry Blossom Shake มิลค์เชคซากุระของญี่ปุ่น หรือ Red Bean Shake ของเกาหลีก็มีเช่นกัน
4. Employee ที่เป็นมืออาชีพ
สำหรับแบรนด์ที่ขายทั้งสินค้าและการบริการแล้ว เรียกว่าพนักงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน โดย Shake Shack ให้ความสำคัญกับคนในองค์กรมากที่สุด เพื่อให้เกิดความสุข เกิดความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของแบรนด์ที่ต้องการเสิร์ฟอาหารคุณภาพสูงในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นกันเอง นอกจากนี้แบรนด์ยังได้มีการลงทุนฝึกพนักงานเพื่อสร้างความประทับใจและประสบการณ์ลูกค้าที่เหนือชั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ใครหลายคนกลับมาใช้บริการนั่นเอง
สรุป
Shake Shack จากร้านรถเข็นฮอทดอกในวันนั้น สู่การเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดทั่วโลกที่มีมากกว่า 370 สาขา ทั้งยังมีหุ้นในตลาดมูลค่ากว่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อมองกลยุทธ์ของแบรนด์รอบด้านไม่ว่าจะตัวสินค้าที่โดดเด่นด้านสุขภาพและคุณภาพ การบริการที่น่าประทับใจ ประกอบกับช่องว่างของโอกาสในตลาดฟาสต์ฟู้ด ทำให้แบรนด์เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดได้ขนาดนี้