พลังการออกแบบ Paris 2024 สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและแบรนด์ประเทศ

นับตั้งแต่จบงานโอลิมปิก 2020 ที่ถูกเลื่อนจัดไป 1 ปี การเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิก 2024 ของกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสในครั้งนี้ เราน่าจะได้เห็นดีไซน์ต่างๆที่ถูกออกแบบมาอย่างสวยงาม ซึ่งแฝงไปด้วยความหมายมากมาย ตั้งแต่โลโก้ยันสถานที่จัดงาน อันแสดงถึงตัวตนของปารีสที่ถูกรวมเอาไว้ในทุกรายละเอียด เพื่อแสดงให้คนทั่วโลกได้รับรู้ ทว่าเบื้องหลังความตั้งใจในการออกแบบเหล่านี้ไม่มีเพียงความสวยงามที่ดึงดูดสายตา แต่ยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจและแบรนด์ประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานอีกด้วย เรื่องราวจะน่าสนใจอย่างไร เรามาเจาะลึกไปพร้อมกัน

เจาะลึกดีไซน์ Paris 2024

“เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ด้วยปรัชญาของประเทศฝรั่งเศสนี้ ที่ถูกสอดแทรกในเข้าไปอยู่ในสัญลักษณ์ต่างๆ เริ่มตั้งแต่ตราสัญลักษณ์ที่ประกอบได้ด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ “เหรียญทอง” ที่แสดงถึงความเป็นเลิศ พากเพียร และแข็งแกร่งอดทน ซึ่งถูกใช้เป็นสีของตราสัญลักษณ์อีกด้วย “คบเพลิง” เปลวไฟที่โชติช่วง สื่อถึงความมุ่งมั่นกล้าหาญของมวลมนุษยชาติ และการส่งต่อคบเพลิงของงานโอลิมปิก และ “มารีอานน์ (Marianne)” สตรีผู้เป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพและเสมอภาคของฝรั่งเศส

นอกจากนี้โทนสีหลักของงาน 3 สี อย่างสีดำ สีขาว และสีทอง และสีรองถึง 7 สี เพื่อสะท้อนความพลังงานและความกระตือรือร้นอันเป็นสีสันของการแข่งขันระดับโลกที่จัดขึ้นในเมืองปารีส ซึ่งก็ถูกตกแต่งอย่างลงตัวรวมกับลายเส้นสายสไตล์ Art Deco ที่มีความหมายเสมือนกับความสง่างามในแบบของฝรั่งเศส

ภาพ 3 สีหลักและสีรองทั้ง 7 และลักษณะตัวอักษรแบบ Art Deco ที่นำมาใช้ทุกองค์ประกอบของงานตั้งแต่ไอคอนจนถึงเหรียญโอลิมปิก

อีกทั้งยังมี Pictogram ที่เป็นสัญลักษณ์แทนกีฬาทั้ง 62 ประเภท โดยในแต่ละภาพจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ และสถานที่แข่งขันอันเป็นเอกลักษณ์ของกีฬาประเภทนั้นๆที่ถูกออกแบบอย่างผสมผสานรอบแกนสมมาตร “X” ให้มีลักษณะเหมือนกับ “โล่อัศวิน” เพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจให้กับทั้งนักกีฬาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

Pictogram ที่เป็นสัญลักษณ์แทนกีฬาทั้ง 62 ประเภท ในรูปแบบ “โล่อัศวิน” ที่ออกแบบให้สมมาตรอยู่ระหว่างตัว “X”

ไม่นับถึงการใช้รูปภาพการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์เพื่อสื่อถึงพลังความแข็งแกร่งของกีฬา รวมถึงใช้สัญลักษณ์ประตูโค้ง (Arch) จาก “ประตูโค้งแห่งชัยชนะ (Arc de Triomphe)” หนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของปารีสไม่แพ้หอไอเฟล มาใช้โดยลดทอนให้เกิดความเรียบง่ายด้วยการใช้เส้นพื้นฐานแบบเรขาคณิตที่ยืดหยุ่น ทว่ายังคงซ่อนความสนุกสนานไว้ได้อย่างแนบเนียน

ลายเส้นของ “ประตูโค้ง (Arch)” ที่นำมาใช้ในการดีไซน์สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะนำมาใช้โปรโมทงาน หรือลวดลวยของพื้นสนามในพื้นที่สาธารณะ

มูลค่าทางเศรษฐกิจและแบรนด์ประเทศ

นอกเหนือจากดีไซน์การออกแบบที่สวยงาม เบื้องหลังของงานโอลิมปิกคงไม่พ้นต้องกล่าวถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ปารีสได้รับจากการเป็นเจ้าภาพ จากการศึกษาหลายฉบับพบว่านอกจากเจ้าภาพจะได้ประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งของประเทศที่ส่งผลดีต่อประชาชนและดึงดูดนักลงทุน แต่ยังรวมไปถึงความภาคภูมิใจของประชาชน สร้างภาพลักษณ์ดีขึ้นทำให้ผลผลิตภายในประเทศเป็นที่ยอมรับและการค้าระหว่างประเทศ อันนำไปสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเจ้าภาพที่ดีขึ้น

โดยจากการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจเปิดเผยว่างานกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 อาจสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้ถึง 10.7 พันล้านยูโร (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) และสร้างงาน 250,000 ตำแหน่ง 

ทว่าการศึกษาถึงผลประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพก็มักจะถูกโต้แย้งอยู่ตลอดเป็นของคู่กัน เพราะผลประโยชน์ที่ได้รับอาจคงอยู่เพียงระยะสั้น ด้วยประเทศอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมากทั้งยังต้องมีค่าบำรุงรักษาต่อไปในอนาคต รวมถึงเกิดการบีบให้ผู้ยากไร้ออกจากพื้นที่เดิมซึ่งได้กลายเป็นสถานที่จัดงาน

อย่างไรก็ดี หากพักเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจไว้ เพราะนอกจากเจ้าภาพต้องการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังต้องการฉายให้เห็นถึงตัวตนและศักยภาพของประเทศให้ออกสู่สายตาชาวโลกทั้งยังช่วยส่งเสริมหรือแม้แต่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศจนนำไปสู่แบรนด์ประเทศ (Nation Brand) ให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน

จริงอยู่ว่าปัจจัยหนึ่งในการมาวิเคราะห์อันดับแบรนด์ประเทศ​ (Nation Brand) คือปัจจัยด้านการคาดการณ์ถึง GDP ของประเทศ ที่ถึงแม้การศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเทศเจ้าภาพได้รับก็ยังเป็นที่โต้แย้งว่าอาจจะคงอยู่เพียงระยะสั้น ทว่าในอีกทางหนึ่งภาพลักษณ์และการรับรู้ของแบรนด์ประเทศก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ประกอบกับการจัดอันดับแบรนด์ประเทศยังต้องอาศัยปัจจัยอื่น เช่น ความแข็งแกร่งของประเทศ จึงทำให้ไม่อาจชี้ชัดไปได้ว่าอันดับแบรนด์ของประเทศจะสูงขึ้นกว่าเดิม ไม่นับรวมถึงขนาดของผลกระทบทางบวกที่ประเทศอาจได้รับและฐานของแบรนด์ประเทศที่มีอยู่เดิม 

สรุป 

แม้ขนาดมูลค่าเศรษฐกิจและภาพลักษณ์แบรนด์ประเทศ (Nation Brand) ของประเทศเจ้าภาพอาจได้รับยังคงเป็นที่ถกเถียงกันจนหาข้อสรุปไม่ได้ แต่สิ่งแน่นอนอย่างหนึ่งที่ชาวฝรั่งเศสและทุกคนจะได้รับจากการมาเยือนเมืองแห่งแสงไฟ ความรักและความโรแมนติกแห่งนี้ นั่นคือ ความรื่นเริง ความสนุกสนาน และช่วงเวลาแห่งเกียรติยศ ที่แม้จะต้องเจอความกดดันจากอุปสรรครอบตัวมากมาย แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต่างรอคอยอย่างแน่นอน 

………………………………………….

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : 

https://www.sarakadeelite.com/lite/olympics-paris-2024/ 

https://www.paris2024.org/en/design/ 

https://www.paris2024.org/en/economic-impact-study-reveals-paris-2024-could-generate-eu107bn-economic-benefits-and-create/ 

https://borgenproject.org/the-effects-of-the-olympic-games/ 

http://www.fpojournal.com/tokyo-2020-olympics-economic-imapact/ 

https://www.researchgate.net/publication/263326504_Country_branding_through_Olympic_Games 

https://www.cogoport.com/en/blogs/how-olympic-games-bolster-host-countries-trade-prospects/ 

https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S2212571X14000547

#NationBrand #Paris2024 #Olympics #Paralympics #Branding #Baramizi #BaramiziOutlookDaily