จากการรายงานของสื่อชื่อดังในภาคธุรกิจอย่าง Forbes ที่ได้ติดตามและจัดอันดับผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก พบว่าในปีค.ศ. 2022 นี้ Elon Musk ได้เสียตำแหน่งให้กับ Bernard Arnault ซึ่งเป็น CEO ของเครือ LVMH ที่เป็นธุรกิจสินค้าแบรนด์หรูชั้นนำระดับโลกจากกรุงปารีสไปอย่างน่าเสียดายด้วยทรัพย์สินร่วมกันกว่า 186,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่า Musk จะมีธุรกิจด้านเทคโนโลยีมากมายทั้งรถยนต์ไฟฟ้า Tesla บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ SpaceX และโซเชียลมีเดียนกฟ้าอย่าง Twitter ที่เพิ่งปิดดีลเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่ง Louis Vuitton, Celine, Givenchy ต่างก็เป็นแบรนด์หรูที่หลายท่านก็คงอยากมีสินค้าของแบรนด์เหล่านี้เข้ามาครอบครองสักชิ้นสองชิ้น ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรนี้มีที่มาที่ไปเป็นยังไง แล้วทำยังไงถึงได้เป็นแบรนด์ที่ใครๆ ต่างต้องการ วันนี้ทางเราจึงพามาเจาะเครือธุรกิจ LVMH กัน
ต้นกำเนิดอาณาจักร LVMH
เครือธุรกิจ LVMH เกิดจากการควบรวมระหว่างแบรนด์ Louis Vuitton และแบรนด์เครื่องดื่มอย่าง Moët Hennessy ในปีค.ศ. 1987 ภายใต้การบริหารของ Arnault ซึ่งเดิมทีเขาเรียนจบปริญญาสาขาวิศวกรรมก่อนทำงานในบริษัทก่อสร้างของพ่อ และไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจแฟชั่นเลยด้วยซ้ำ โดยภายหลังจากที่เขาได้ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มเห็นโอกาสและเส้นทางสดใสของธุรกิจแฟชั่นและได้เข้ามาจับธุรกิจแบรนด์หรูเต็มตัวเมื่อกลับมายังฝรั่งเศส โดยซื้อหุ้นบริษัท Financière Agache ที่ผลิตสินค้าแบรนด์เนมอย่าง Christian Dior ที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติก่อนจะบริหารจนฟื้นกลับมาได้ในที่สุด
ซึ่งความคาดหวังของ Arnault ไม่เพียงแค่ต้องการครอบครองบริษัทเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น แต่คาดหวังให้ LVMH เป็นเครือสินค้าแบรนด์หรูที่ใหญ่ที่สุด จนปัจจุบันนี้ LVMH ไม่เพียงแต่จะเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าแฟชั่นชื่อดังเพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงสินค้าเครื่องหอม เครื่องสำอาง นาฬิกาและจิวเวลรี่ ไวน์และร้านค้าปลีกอีกมากมายมากกว่า 75 แบรนด์ ซึ่งล่าสุดเมื่อปีค.ศ. 2021 ก็เพิ่งซื้อกิจการ Tiffany & Co. บริษัทจิวเวลรี่สัญชาติอเมริกันเข้ามาอยู่ในเครืออย่างเป็นทางการ Arnault จึงถูกนับเป็นผู้สร้างรสนิยม (Taste-Maker) ที่มีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก
กลยุทธ์ LVMH สู่การเป็นเครือธุรกิจระดับโลก
1. แนวคิดของผู้นำองค์กร
ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของ LVMH คือการที่มีผู้นำองค์กรของ Arnault ที่มีต้งการนำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จ โดย Arnault ป็นผู้ที่ไม่ปิดกั้นตัวเองที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของดีไซน์เนอร์ ไม่ปิดกั้นความคิดใหม่ ๆ ของคนในทีมหรือลูกน้องของเขา และให้ความสำคัญกับคุณภาพผลงานมากกว่ากำไรที่ได้รับ
2. การเลือกกลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของ LVMH คือ กลุ่มประเทศในเอเชีย โดย Arnault มองว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยจำนวนประชากรและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายได้กว่า 35% จากยอดขายทั้งหมดของ LVMH เกิดจากประเทศในแถบเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
3. กลยุทธ์ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
กลยุทธ์ที่สำคัญของ LVMH คือ การใช้ศิลปินเกาหลี หรือศิลปินจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในการเป็น แบรนด์แอมบาสเดอร์ Muse, หรือ Friends ของแบรนด์ โดยเราจะเห็นว่าใน Instagram ของเหล่าศิลปินเกาหลี มักจะมีการถ่ายรูปคู่สินค้าแบรนด์บ่อย ไม่ว่าเป็น Lisa จากวง BLACKPINK กับ Celine Bvlgari วง BTS กับแบรนด์ Louis Vuitton หรือ Jisoo จากวง BLACKPINK ที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับแบรนด์ Christian Dior ไม่นับรวมศิลปินอื่นๆอีกมากมาย ทั้งนี้เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของ LVMH เป็นคนเอเชีย
การใช้ศิลปินที่ได้รับการสนับสนุนจากเหล่าแฟนคลับที่มีกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีการสนับสนุนศิลปินอย่างดี จึงเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะนอกจากจะเจาะลูกค้ากลุ่มเอเชียแล้วการใช้ศิลปินระดับโลกยังสามารถที่จะเจาะลูกค้าในฝั่งตะวันตกได้อีกด้วย อีกทั้งการใช้ชาวเอเชียเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ยังสะท้อนให้เห็นถึงการรณรงค์ให้มีการหยุดการแบ่งแยกชนชาติของ LVMH และยังเป็นแรงผลักดันในสหรัฐฯ ให้เลิกใช้การโฆษณาที่เน้นคอเคเซียน (คนผิวขาว) เป็นหลักได้อีกด้วยการรณรงค์ Stop Asian Hate
4. กลยุทธ์การขยายกิจการ
ในการขยายกิจการของเครือธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง LVMH กลยุทธ์ที่สำคัญที่จะขาดไปเลยไม่ได้ก็คือ การซื้อกิจการแบรนด์อื่นๆ เพื่อเพิ่มไลน์สินค้า กระจายความเสี่ยง และช่วยลดจำนวนคู่แข่ง โดยกลยุทธ์ในการซื้อกิจการของ Arnault คือการมองหาธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง และเริ่มลงทุนในหุ้นของธุรกิจนั้นในบางส่วน หากการบริหารเป็นไปอย่างดีจึงจะทำการซื้อกิจการไว้
LVMH ในทุกวันนี้
ปัจจุบันฐานลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดของ LVMH คือภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในปีค.ศ. 2021 รายได้ส่วนใหญ่ของเครือ LVMH เมื่อแบ่งตามภูมิภาคแล้วมาจากเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่นนี้มีมากถึง 35% จากที่ได้กล่าวไปในข้างต้น รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 26% ยุโรป 15% ตลาดอื่นๆ 11% และประเทศญี่ปุ่น 7% โดยบริษัทมีมูลค่ารวมกว่า 13.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2022 บริษัทได้สร้างยอดขายมากถึง 18,000 ล้านยูโร หรือราว 653,747 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 29% จากปีก่อน
หมวดสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ สินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง เช่น Louis Vuitton ,Dior และ Celine ที่สร้างรายได้ถึง 9,123 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021 รองลงมา คือ หมวดร้านค้ารีเทลที่สามารถทำผลงานได้ดีในไตรมาสนี้ เป็นผลมาจากการที่ Sephora กลับมาเปิดเต็มรูปแบบ ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน ตามมาด้วยหมวดนาฬิกาและเครื่องประดับ อย่าง Tiffany & Co. และ Bulgari ที่เติบโตขึ้นเป็นผลมากจากการที่ได้ Rosé และ Lisa BLACKPINK เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์
สรุปความยิ่งใหญ่แห่ง LVMH ภายใต้ Bernard Arnault
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ Elon Musk จะเสียอันดับ 1 ผู้รวยที่สุดในโลกไปที่มูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 161 ล้านดอลลาห์สหรัฐจากการรายงานของ Bloomberg ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากมูลค่าหุ้นรถไฟฟ้า Tesla ที่ลดลงจากความน่าเชื่อถือของ Musk ที่ลดลงจากข้อตกลงที่ยืดเยื้อในการซื้อกิจการโซเชียลมีเดีย Twitter แต่ในอีกทางหนึ่งก็คงต้องยอมรับถึงกลยุทธ์เครือธุรกิจ LVMH ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของผู้นำที่ก้าวไกล กลยุทธ์การใช้ศิลปิน และการซื้อกิจการอื่นเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้แม้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจธุรกิจก็ยังโตอย่างต่อเนื่อง ไม่นับเดิมทีที่ทำการบริหารแบรนด์ดังในเครือที่มีชื่อเสียงเกือบร้อยปีให้อยู่ได้ในตอนนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอาณาจักร LVMH ที่ยากว่าใครจะมาโค่นล้มลงได้
__________________________________
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
https://www.bloomberg.com/billionaires/compare-individuals/
https://www.lvmh.com/investors/profile/financial-indicators/#groupe
https://pnstoretailer.com/facts-lvmh-luxury-fashion-business-successful/
https://www.finnomena.com/the-opportunity/news-update-27-07-2022-3/