แนวคิด People Centric ของ TCP กับการปั้นแบรนด์องค์กรสู่ความยั่งยืน

คำว่า People Centric หรือการยึดคนเป็นศูนย์กลาง แม้จะเป็นคำพูดที่เรียบง่าย แต่เป็นสิ่งที่ทรงพลังและเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาองค์กรให้มีความยั่งยืน เพราะพนักงานที่มีความสุขก็จะทำให้ลูกค้ามีความสุขด้วย โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่จะเห็นได้ชัดเลยว่า พนักงานส่วนใหญ่มักจะหันหลังให้กับงานหนักและการมีส่วนร่วมที่ลดน้อยลงเช่นกัน ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ จึงต้องใส่ใจต่อการสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งจากภายในอย่างเร่งด่วน แล้วองค์กรต่าง ๆ จะแก้ปัญหานี้อย่างไรล่ะ? สิ่งสำคัญคือ การสร้างแรงจูงใจ สร้างพลัง และเยียวยาทั้งทางกายละทางใจให้คนในองค์กรพร้อมสร้างการเติบโตไปพร้อมๆกัน วันนี้ผมเลยอยากจะพาทุกคนมาเรียนรู้หลักการการบริหารองค์กรจากเครือธุรกิจใหญ่อย่างเครือ TCP เจ้าของแบรนด์ดังอย่างกระทิงแดง เรดดี้ และแบรนด์อื่น ๆ อีกมากมาย

การสร้างประสบการณ์พนักงานใน 3 ด้าน

1. ด้านการสร้างสมดุลชีวิต

เนื่องจาก TCP มองว่าการสร้างสมดุลชีวิตให้กับพนักงานเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากที่มีผลต่อความแข็งแกร่งภายในองค์กร จึงทำให้เกิดแนวคิด “Work-life integration” ที่มุ่งหวังจะช่วยให้พนักงานสามารถผสานการใช้ชีวิตกับการทำงานได้อย่างลงตัว ด้วยการสนับสนุนพนักงานใน 3 มิติ 

มิติกาย คือ การสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับพนักงานอย่างมั่นคงทั้งในและต่างประเทศ หรือแท้กระทั่งการเสริมสร้างทักษะการทำงานด้วยแอปพลิเคชั่น TCP Learning+ มิติใจ คือ การใส่ใจด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจไม่ว่าจะเป็น มาตรการความปลอดภัยในช่วงโควิด-19 การอบรมให้ความรู้ หรือการคอยให้คำปรึกษาปัญหาทางจิตใจ มิติการเงิน คือ การสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้กับพนักงาน จากการให้สวัสดิการในการเบิกเงินล่วงหน้า และการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารเงินเพื่อสภาพการเงินที่มั่นคง

2. ด้านสิ่งแวดล้อมการทำงาน

สิ่งแวดล้อมที่ดีก็ย่อมส่งผลให้การทำงานดียิ่งขึ้น ด้วยรูปแบบของออฟฟิศที่เปิดโล่งจึงให้คนในบริษัทพบเจอกันมาขึ้นทำให้สามารถแลกเปลี่ยนไอเดียเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ หรือแม้แต่การสร้างความสะดวกสบายในการทำงานด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้งานราบรื่นยิ่งกว่าเดิม รวมไปถึงการทำงานแบบ Work From Anywhere ที่ทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่งจากการวิจัยของ Apollo Technical พบว่าทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 47% เลยทีเดียว 

3. ด้านพลังและพื้นที่การทำงาน

“รุก บวก สุดพลัง” วัฒนธรรมองค์กรของ TCP ที่พยายามสร้างให้คนในองค์กรได้รับรู้ อย่าง “รุก” คือ การกล้าคิด กล้าทำและออกไอเดียใหม่ๆ รวมถึงการตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยข้อมูล “บวก” คือ การคิดแง่บวก ทำงานเปิดใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และสุดท้ายคือ “สุดพลัง” การที่ทุกคนพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมสู้ทุกปัญหาและความเปลี่ยนแปลง 

บทวิเคราะห์

การสร้างให้แบรนด์ประสบความสำเร็จในยุคใหม่นั้น หลายองค์กรมักจะเน้นที่ปัจจัยภายนอกอย่างการสร้างสินค้าและบริการ การส่งมอบคุณค่าของแบรนด์ให้ลูกค้าเป็นหลัก จนอาจหลงลืมปัจจัยภายในที่สำคัญอย่างคนในองค์กรไป เพราะวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจนที่จะนำองค์กรไปสู่ความก้าวหน้าได้นั้นมี “บุคลากร” เป็นปัจจัยสำคัญ ด้วยการสร้าง Culture ที่เข้มแข็ง และ DNA ที่ชัดเจนประกอบกัน จะยิ่งส่งผลทำให้องค์กรพัฒนาไปยังเป้าหมายได้อย่างประสิทิภาพมากขึ้น

สรุป 

ไม่แปลกใจว่าทำไมองค์กรผู้ผลิตแบรนด์ชื่อดังออกมาสู่ตลาดมากมายอย่าง กระทิงแดง เรดดี้ หรือเพียวริขุ จะเป็นบริษัทที่ติดอันดับท็อปของประเทศ เพราะไม่เพียงแต่คุณภาพและราคาสินค้าที่จะครองใจคนไทยได้อย่างหลากหลายแล้วเท่านั้น แต่เพราะคนภายในองค์กรที่มี DNA และวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ จนนำพาให้เครือบริษัท TCP ก้าวมาเป็นบริษัทชั้นนำได้อย่างทุกวันนี้