หากจะพูดถึงเครื่องดื่มชูกำลังเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่พูดถึง “กระทิงแดง” แบรนด์เครื่องดื่มของคนไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน ด้วยตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีคู่แข่งมากหน้าหลายตา จนกระทิงแดงไม่อาจรักษาความเป็นผู้นำในตลาดเอาไว้ได้ จนถึงในวันที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากแบรนด์กระทิงแดงสู่การเป็น “กลุ่มธุรกิจ TCP” ที่ถือได้ว่าเป็นแบรนด์ระดับโลกแบรนด์แรกของคนไทย ซึ่งเขามีการใช้กลยุทธ์อย่างไรบ้างในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์อย่างแท้จริง วันนี้เรามาติดตามไปพร้อมกัน
เสียตลาดแต่ไม่หมดหนทาง
รู้หรือไม่ว่า ในอดีตกระทิงแดงเคยเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมาก่อน จากการใช้กลยุทธ์การเจาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ด้วยคอนเซ็ปของการเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน และสโลแกนที่เรียบง่ายอย่าง “กระทิงแดง ซู่ซ่า ซู่ซ่า” ทว่าก็ได้มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อมีคู่แข่งหลายแบรนด์เข้ามาในตลาดพร้อมๆกัน ด้วยกลยุทธ์มัลติแบรนด์ (Multi Brand) ประกอบกับการเลิกใช้โปรโมชั่น “โชคใต้ฝ้า” ของกระทิงแดง ส่งผลให้ต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับ M-150 และ คาราบาว ที่ได้ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 และ 2 ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังแทน
เมื่อถึงจุดที่ถูกบดบังด้วยร่มเงาของผู้นำในตลาด และการเติบโตของตลาดที่หดตัวลง ทำให้กระทิงแดงต้องหนีไปสร้าง Niche Market ของตัวเอง โดยการสร้างแบรนด์ใหม่อย่างเรดดี้ที่ลบภาพของการเป็นเครื่องดื่มสำหรับแรงงาน ด้วยคุณค่าด้านความงามที่ถูกเสริมเข้าไปพร้อมกับส่วนผสมของน้ำผลไม้ที่ทำให้ดื่มง่ายยิ่งขึ้น เพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน ซึ่งก็ได้รับผลสำเร็จด้วยการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องชูกำลังกำลังพรีเมียม ทว่าก็ยังมีความท้าทายในเรื่องของขนาดตลาดที่ถึงแม้จะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังมีขนาดที่เล็กกว่าตลาดแมสอยู่มาก อีกทั้งการขยายตลาดด้วยกลยุทธ์ Multi Brand อาจทำให้การบริหารจัดการแบรนด์ที่มีอยู่จำนวนมากเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความแข็งแกร่งของแบรนด์จนกระทั่งอาจเสียความเป็นผู้นำตลาดไปได้อีกในอนาคต
ยืนหยัดต่อสู้อีกครั้งด้วยกลยุทธ์ Brand Portfolio
แน่นอนว่าด้วยสิ่งที่ต้องเผชิญนี้ ทำให้กระทิงแดงต้องปรับกลยุทธ์เสียใหม่โดยการสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาพรวมของธุรกิจมากขึ้น นำไปสู่กลยุทธ์การปรับพอร์ตโฟลิโอสินค้าเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือจนกลายเป็น “เครือ TCP” ซึ่งมาจาก “กลุ่ม ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล” อันเป็นกลุ่มบริษัทที่ให้กำเนิดกระทิงแดงนั่นเอง กลยุทธ์ที่ใช้อย่าง Multi Brand ทำให้ผู้คนจำได้เพียงแค่แบรนด์ย่อยที่มีกลุ่มเป้าหมายต่างกันอย่าง กระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส หรือแม้แต่กลุ่มน้ำประเภทอื่นอย่าง เพียวริคุ สปอนเซอร์ เมื่อใช้กลยุทธ์ Brand Portfolio Strategy เข้ามาช่วยจึงทำให้ลูกค้ามองเห็นธุรกิจเป็นเครือ TCP ที่ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำอย่างแท้จริง ทั้งยังสามารถทำให้ธุรกิจมีเป้าหมายเดียว เพื่อที่จะได้แข่งขันกับคู่แข่งอย่าง “กลุ่มโอสถสภา (OSP)” และ “กลุ่มคาราบาวกรุ๊ป (CBG)” ได้มากขึ้น
“เครือ TCP” กระทิงที่แข็งแกร่งกว่าเดิม
เมื่อความชัดเจนของพอร์ตฟอลิโอมากขึ้น ทำให้การวางเป้าหมายของธุรกิจยิ่งชัดเจนมากขึ้นที่ไม่ใช่แค่เพียงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ยังรวมไปถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากรให้มี DNA เดียวกันไปด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลให้ธุรกิจเติบโต โดยผลลัพธ์ในการปรับพอร์ตล่าสุดเครือ TCP ได้มุ่งเป้าวางแผน “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” โดยใช้ 3 กลยุทธ์หลัก ปลุกพลังแบรนด์สินค้า ปลุกพลังธุรกิจเติบโต และปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายรายได้ที่ 90,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปีพ.ศ. 2567 ซึ่งอาจทำให้เครือ TCP เอาชนะ OSP และ CBG ที่เป็นอันดับ 1 และ 2 ไปได้ก็คราวนี้
สรุป : Brand Portfolio กลยุทธ์สู่ความยั่งยืนของธุรกิจ
TCP ที่ใช้กลยุทธ์ Multi Brand ในการสร้างความแข็งแกร่งมาโดยตลอด การปรับ Brand Portfolio ก็เปรียบเสมือนตัวที่จะยิ่งเข้ามาช่วยผลักดันให้ TCP ยิ่งเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวและมุ่งสู่การเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในอนาคต เพราะเป้าหมายการวางกลยุทธ์ Brand Portfolio Strategy ที่ใช้ในการจัดวางโครงสร้างของแบรนด์อย่างเป็นระบบนี้ นอกจากจะช่วยประสานและเสริมพลังของทุกแบรนด์เข้าด้วยกันแล้ว ยังสามารถยกระดับคุณค่าของแบรนด์ให้มากขึ้น และสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งนับได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับธุรกิจในยุคนี้ที่หนึ่งในการแข่งขัน ก็คือการแข่ง Porfolio กันนั่นเอง
………………………………………….
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
https://www.tcp.com/news/2564/04apr/tcp-announce-new-purpose-2/
https://www.prachachat.net/csr-hr/news-1153810
https://thestandard.co/saravoot-yoovidhya-tcp/
https://www.longtunman.com/38016
#เครือTCP #กระทิงแดง #Redbull #BrandPortfolio #Business #Baramizi #BaramiziOutlookDaily