ทำไมแบรนด์ถึงมีมูลค่ามากกว่าสินค้า ? 

ทำไมแบรนด์ถึงมีมูลค่ามากกว่าสินค้า ? 

การพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันนั้นนอกจาการวางแผนในการสร้างรายได้และกำไรแล้วนั้นยังต้องคิดถึงเป้าหมายการสร้างมูลค่าแบรนด์ซึ่งปัจจุบันนั้นสามารถวัดเป็นตัวเงินได้จริงและมีการซื้อ-ขาย ด้วยมูลค่าที่ประเมินด้วยตัวเลขทางบัญชีไม่ได้ทั้งหมด และมูลค่าแบรนด์ควรเป็นตัวชี้วัดใหญ่ที่สำคัญสำหรับทุกๆ องค์กร ซึ่งแนวคิดนี้ควรเป็นแนวคิดที่สำคัญในการที่ท่านจะทรานส์ฟอร์มแบรนด์ตัวเองสู่ยุคใหม่  อยากย้ำอีกทีว่าการทรานส์ฟอร์มแบรนด์ไม่ใช่แค่การทำภาพลักษณ์แบรนด์องค์กร ซึ่งการทำเพียงแค่นี้เราเรียกว่ารีแบรนด์ใหม่เท่านั้น 

 

เรามาดูตัวอย่างตัวเลขมูลค่าแบรนด์ที่วัดออกมาในระดับสากล เช่น   

Apple         มูลค่า 214,480  $M ปี 2018    เพิ่มขึ้นจากปี 2017    16% 

Google      มูลค่า 155,506    $M  ปี 2018    เพิ่มขึ้นจากปี 2017   10%

Amazon    มูลค่า 100,764   $M ปี 2018     เพิ่มขึ้นจากปี 2017    56%  เป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในปี 

Facebook  มูลค่า 45,168     $M ปี 2018     ลดลงจากปี  2017    -6 %

Nike.          มูลค่า 30,120     $M ปี 2018     เพิ่มขึ้นจากปี 2017    11%

IKEA         มูลค่า 17,458       $M ปี 2018     ลดลงจากปี 2017    -5 %

Netflix       มูลค่า 8,111         $M ปี 2018     เพิ่มขึ้นจากปี 2017    45 %

และแบรนด์น้องใหม่ มาแรงอย่าง Spotify 5,176  $M 

เหตุผลสำคัญที่แบรนด์ในยุคนี้มีมูลค่ามากนั้นก็เพราะว่าเป็นแบรนด์ที่มีแนวโน้มเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับโลกแห่งอนาคต แล้ว…. 

ทำไมมูลค่าแบรนด์จึงมีมูลค่ามากกว่าแค่ตัวสินค้า

 

1.แบรนด์มีอายุมากกว่าสินค้า :  ส่วนมากกิจกรรมทางธุรกิจนั้นมักมีการออกสินค้ามาตามช่วงเวลาเพื่อเพิ่มยอดขาย และโดยมากกฎธรรมชาติของสินค้านั้นจะมีกลไกแบบ S Curve คือมีช่วงขึ้นและมีช่วงลงตามกาลเวลาและตามสถาณการณ์การแข่งขัน แต่ทุกครั้งที่ออกสินค้าเราต้องใช้แบรนด์เดิมตลอดให้คงที่และลูกค้ารับรู้ตลอดอย่างต่อเนื่อง  แบรนด์เองจึงทำหน้าที่ที่สำคัญทุกครั้งในการออกสินค้าและบริการใหม่ออกมา ดังนั้นการสร้างแบรนด์ที่มีพลังแห่งคุณค่านั้นสัมพันธ์กับการสร้างยอดขายอย่างแน่นอน 

 

2.แบรนด์มีการใช้งานมากกว่า ต่อเนื่องกว่า :  ในข้อนี้จะเห็นชัดว่าแบรนด์ที่มีพลังนั้นจะดึงดูดลูกค้าได้ดีกว่า เพราะแบรนด์มักจะเป็นตัวแทนของธุรกิจที่ปรากฏ ในทุกๆ Customer Touchpoint (จุดสัมผัสแบรนด์ของลูกค้า) ลองมาดูกันนะครับว่าจริงไหมที่เราเห็นแบรนด์ในทุกๆ Touchpoint จริงๆ 

  • บนตัวสินค้า 
  • บนบรรจุภัณฑ์ 
  • บนป้ายราคา 
  • บนป้ายหน้าร้าน 
  • บนชุดพนักงานทุกระดับ 
  • บนป้ายบริษัท 
  • บนสื่อออนไลน์ ทั้งเวปไซค์และเฟสบุ๊ค 
  • บนรถขนสินค้า 
  • บนนามบัตร
  • บนโบรชัวร์และสื่อสิ่งพิมพ์ 

นี่แค่ยกตัวอย่างเบสิคที่ทุกธุรกิจต้องมีนะครับ จะเห็นว่าแบรนด์รายล้อมตัวลูกค้าหรือผู้พบเห็นเป็นจำนวนมากและตลอดเวลา จึงมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าโดยตรงเลยก็ว่าได้ครับ

 

3.แบรนด์สร้างคุณค่าทางจิตใจได้มากกว่าแค่ตัวสินค้า : ลองยกตัวอย่าง เราใช้สินค้าที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน

อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราอยากอวดเพื่อน อยากบอกว่าเราใช้แบรนด์นี้ และในยุคที่เรามีสื่อในมือเราเองเราก็อยากบอกต่อ แชร์ต่อแบรนด์นั้นๆให้ด้วย  ข้อแตกต่างของแบรนด์ที่เน้นเพียงแค่คุณประโยชน์ของสินค้า และบริการ เช่น 

  • อาหารอร่อย
  • บริการดี 
  • มีคุณประโยชน์ มีสารอาหาร มีวิตามิน…. เป็นต้น 
  • ใส่สบาย ปลอดภัย

สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานแบรนด์ที่ควรมี เป็นพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อการสร้างมูลค่าแบรนด์ให้มีพลัง และไม่เพียงพอต่อการทำให้คนหลงรักแบรนด์ท่าน การที่แบรนด์ท่านจะมีคนหลงรักหลงไหล เป็นว่าที่ Super Fans นั้นท่านต้องสร้างความสัมพันธ์ในเชิงคุณค่าทางจิตใจให้ได้ครับ   

 

4.แบรนด์ที่ดีสร้างกำไรได้มากกว่าแค่สินค้าดี 

   แน่นอนครับในการดำเนินธุรกิจเราควรที่จะต้องคิดถึงสินค้าที่ดีอย่างแน่นอน แต่ถ้าพูดถึงในมุมการสร้างกำไรนั้น ส่วนต่างระหว่างต้นทุนสินค้าและราคาขายคือ มูลค่าที่เพิ่มขึ้นนั้นใช้ได้กับทุก Segment ของตลาด ไม่จำเป็นที่การสร้างมูลค่าเพิ่มจะอยู่แค่เพียง Segment บนเท่านั้น หากแต่สินค้าราคาไม่แพงอย่างเช่น IKEA ก็ยังมีสัดส่วนของกำไรที่สูงถึง 46% ถึงแม้ว่าราคาสินค้าไม่แพงแต่ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลและที่สำคัญลูกค้ายอมจ่าย ผมพอจะสรุปให้ง่ายๆ ตามสมการนี้ 

มูลค่าเพิ่มของแบรนด์ = คุณประโยชน์ตัวสินค้า x คุณค่าทางจิตใจของลูกค้า 

คุณค่าทั้งสองส่วนที่ลุกค้าได้รับนั้น หมายถึง มูลค่าทางการตลาดที่ลูกค้ายอมจ่าย และการสร้างกำไรให้กับธุรกิจก็ขึ้นกับคุณประโยชน์กับคุณค่าที่ส่งมอบไปยังลูกค้าของเรานั่นเองครับ  ส่วนการสร้างคุณค่าทางจิตใจนั้นมีเทคนิคมากมายซึ่งผมบอกได้สั้นๆ ในบทนี้ก่อนว่า การสร้างเพียงภาพลักษณ์ไม่ใช่คำตอบและไม่เท่ากับการสร้างคุณค่าทางจิตใจให้ลูกค้า  โดยสรุปในส่วนนี้นั้นก็คือ การทรานส์ฟอร์มแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์แบรนด์ให้มุ่งสู่การสร้างแบรนด์ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และกลายเป็นสัญลักษณ์คุณค่าแห่งจิตใจ ของยุคสมัยเช่นเดียวกัน