แม้เศรษฐกิจช่วงนี้จะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่สิ่งที่ผมเห็นทัศนคติมุมมองจากเจ้าของธุรกิจและกูรูมากมายมักจะส่งเสียงไปในทางเดียวกันว่าเน้นกระแสเงินสด เน้นยอดขาย หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ธุรกิจรอดผ่านช่วงนี้ไปก่อน
ซึ่งสิ่งที่ออกมาเป็นวิธีการจากแนวคิดนี้คือมักทำเรื่องการลดราคา, ใช้ live ขายของ, หรือทำการตลาดที่ค่อนข้างเน้นไปในทางฮาร์ดเซลล์ มากๆ ซึ่งผลลัพธ์ไม่ได้ดีเสมอไปแถมส่งผลเสียในระยะยาวตามมาด้วย คือสภาวะที่แบรนด์ช้ำจากการใช้การสื่อสารที่มุ่งแต่การขายที่มีความไม่พิถีพิถันของการสื่อสารออกไป ซึ่งเมื่อหลังวัคซีนมีผลต่อการสร้างภูมิของคนทั้งโลกแล้วเศรษฐกิจเริ่มฟื้นนั้น แบรนด์ของท่านจะต้องฟื้นขึ้นใหม่แบบที่เรียกว่าไม่รู้ว่าจะหวนกลับมาได้หรือเปล่า ท่านอาจจะเป็นแบรนด์ที่ขายของได้ต่อเมื่อราคาต่ำเตี้ยติดดิน ดังนั้นด้วยข้อห่วงใยจากผมท่านเน้นการขายไม่ผิดแต่พูดกันชัดๆท่านต้องสร้างแบรนด์คู่ไปด้วย
ทำไมต้องสร้างแบรนด์ ?
ข้อความนี้เป็นคำถามที่ผมถูกถามตลอดในเวลาการทำงานกว่าสิบแปดปี สิ่งที่พบก็คือว่าผู้ประกอบการจำนวนมากมองการสร้างแบรนด์เป็นความสิ้นเปลืองและเสียเวลา และชอบหาทางลัดที่จะขายของได้เร็วๆมากกว่า
ลองคิดดูนะครับว่าถ้าผมบอกว่า หุ้นตัวนี้จะขึ้นในสัปดาห์หน้า ท่านจะซื้อหุ้นตัวนี้ไหม ? คำตอบที่ได้คือซื้อแน่นอน 100% เพราะอะไร ? เพราะเรารู้ว่าเราทำเงินกับมันได้แน่ๆ กลับไปที่คำถามทำไมต้องสร้างแบรนด์ ? ก็เพราะแบรนด์ทำให้…
1. ช่วยทำให้ขายของดีขึ้น
ทำไมช่วยให้ขายของดีขึ้นลองคิดภาพตามถ้าคุณมีเงินอยากซื้อรถคุณจะซื้อยี่ห้ออะไร ? ส่วนมากมักจะไม่ใช่ที่ราคาและมักเลือกรถยุโรป เช่น Mercedes-Benz (เมอร์เซเดส-เบนซ์) เป็นต้น เราไม่ได้ซื้อที่รถวิ่งได้ แต่เราซื้อเพราะแบรนด์ Benz สะท้อนความหรูหรา ความสำเร็จของผู้ขับขี่ ลองถามตัวท่านเองว่าจริงไหม ? การทำธุรกิจโดยไม่มีแบรนด์เอาแต่โพสต์ขายของออนไลน์ไปวันๆ ไม่ช่วยคุณขายของดีขึ้นมากเท่าไรหรอกครับ ไม่เชื่อลองนับเงินที่เสียให้สื่อออนไลน์อย่างไม่ลืมหูลืมตากันดูนะครับว่าใช้เงินไปเท่าไร ? เทียบกับยอดขายที่เข้ามาได้
2. ช่วยทำให้ขายของได้ยาวขึ้น
จากข้อแรกจะเห็นได้ชัดว่าการขายของได้ยาวขึ้นเพราะลูกค้าติดที่แบรนด์คุณมากกว่าราคา ซึ่งในภาษาที่เรียกกันในปัจจุบันคือ การสร้างแบรนด์ที่ดีก่อให้เกิด Super fans ของแบรนด์คุณ นั่นหมายถึงเหล่าสาวกที่คอยสนับสนุนคุณอยู่ตลอดไม่ใช่เพราะราคาหรือแค่โพสต์เฟสบุคตลกๆให้คนมาไลค์มาแชร์ไปวันๆ ลองยกตัวอย่างจากการสร้างแบรนด์ของสโมสรปีศาจแดงแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดสิครับว่าเขามี Super fans มากแค่ไหนในโลก
ถึงแม้ธุรกิจหลักจะคือฟุตบอลแต่ของชำร่วยของ “ปีศาจแดง นั้นทำเงินให้สโมสรมหาศาล และเหล่าสาวกเองก็ตามไปซื้อสินค้าและบริการอื่นๆอีกมากมาย นี่แหละครับที่เรียกว่าขายของได้ยาวและได้มากด้วย ใครอยากสร้างสาวกแบรนด์ลองติดตามวิธีการสร้างแบรนด์ของสโมสรฟุตบอลอังกฤษกันดูนะครับ
3. ช่วยทำให้มีกำไร จากข้อสองนั้นพบว่าการขายของได้ยาวขึ้น นั่นหมายถึงคนหนึ่งคนยินยอมพร้อมใจซื้อสินค้าและบริการเพราะแบรนด์ นั่นคือไม่ได้ซื้อเพราะโปรโมชั่นหรือส่วนลด ทำให้แบรนด์ที่มีเหล่าสาวกสามารถสร้างกำไรทางธุรกิจได้ดีกว่า เพราแค่แก้วน้ำวางบนชั้นวางของเหมือนกันถ้ามีติดโลโก้ ปีศาจแดง แล้วคุณเป็นสาวกคุณก็อยากซื้อเพราะมันคือสิ่งที่เชื่อมต่อกับความรู้สึกของคุณ ไม่ใช่ถูกล่อด้วยราคา ซึ่งราคาจะไม่ได้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจของเหล่าสาวกเลยทีเดียว ก็คิดเอาเองว่าแบรนด์ที่มาสาวกเยอะจะสร้างกำไรได้มากแค่ไหน จริงไหมครับ
4. ช่วยทำให้มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น (แบรนด์สามารถประเมินมูลค่าได้)
การสร้างแบรนด์หลายคนมองแบบฉาบฉวยมากเพราะมองเป็นการใช้เงินสิ้นเปลืองกับสื่อโฆษณา แต่รู้ไหมครับบางแบรนด์เขาแทบไม่ใช้เงินกับการโฆษณาเลยก็ว่าได้ อย่างเช่นแบรนด์ Starbucks (สตาร์บักส์) เป็นต้น เพราะแบรนด์เหล่านี้สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้ามากกว่าการโฆษณา และเมื่อแบรนด์ใดๆก็ตามส่งมอบประสบการณ์ที่ดีได้แล้วนั้น แบรนด์คุณจะเริ่มสร้างความรู้สึกที่ทำให้ลูกค้ารักและบอกต่อ เมื่อสภาวะนั้นมาถึงแบรนด์คุณจะมีชีวิตและกลายเป็นสินทรัพย์ที่สามารถผลิตเม็ดเงินให้เจ้าของแบรนด์ ซึ่งแบรนด์มีอายุยาวนานกว่าเจ้าของเสียอีก เช่น Disney (ดิสนี่ย์) ผู้ก่อตั้งไม่อยู่แล้วแต่แบรนด์ Disney นับวันจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
อ่านมาทั้งหมดผมก็ได้แต่หวังว่าเรื่องการสร้างแบรนด์จะเป็นอีกแสงสว่างให้ธุรกิจไทยสามารถก้าวผ่านแค่การแข่งขันเรื่องราคาและเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิต ไปเป็นบริษัทที่มีแบรนด์ที่เป็นสินทรัพย์ อย่างประเทศเกาหลีใต้ที่เคยทำสำเร็จมาแล้วและกลายเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานในประเทศเกาหลีช่วงหนึ่งโฟกัสเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้แบรนด์เกาหลีใต้ผงาดไปทั่วโลกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดเลยทีเดียว